ยุทธศาสตร์จีนต่อปัญหาทะเลจีนใต้: Taylor M. Fravel กับข้อเสนอเรื่องกลยุทธ์การเตะถ่วง

ยุทธศาสตร์จีนต่อปัญหาทะเลจีนใต้: Taylor M. Fravel กับข้อเสนอเรื่องกลยุทธ์การเตะถ่วง [1]

 

            

China’s strategy of delaying the settlement has emphasized strengthening China’s own claim to  maritime rights, especially its ability to exercise jurisdiction over the contested waters, and to deter other claimant states from further strengthening their own maritime claims.”[2] 

ข้อถกเถียงหลักของ Fravel เสนอว่า จีนใช้กลยุทธ์ในการเตะถ่วง (Delaying Strategy) ในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้ โดยเป้าหมายของกลยุทธ์ดังกล่าวประกอบด้วย 2 ประการได้แก่การสร้างความเข้มแข็ง (Consolidation) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องของสิทธิและขอบเขตอำนาจทางทะเล (Jurisdiction) ผ่านการใช้เครื่องมือทางการทูตและกฏหมาย ควบคู่กันไปกับการป้องปราม (Deterrence) มิให้รัฐอื่นๆเพิ่มพูนศักยภาพอันจะส่งผลกระทบต่อการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของจีน อย่างไรก็ตาม ยุทธวิธีดังกล่าวกลับสะท้อนสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางความมั่นคง (Security Dilemma) กล่าวคือ การสร้างความเข้มแข็งและอิทธิพลของจีนถูกพิจารณาว่าเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ 

ทั้งนี้อาจพิจารณาได้ว่า ทะเลจีนใต้เป็นอาณาบริเวณที่สะท้อนผลประโยชน์หลักของจีนทั้งมิติทางความมั่นคงและมิติทางเศรษฐกิจ โดยในมิติแรกอาจพิจารณาได้ว่า ทะเลจีนใต้เป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงที่สำคัญของจีน โดยทะเลจีนใต้เปรียบเสมือนเป็นพื้นที่กันชนทางทะเล (Maritime Buffer) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจีนจำต้องเผชิญหน้ากับไต้หวันหรือสหรัฐอเมริกา ในขณะที่มิติทางเศรษฐกิจ ทะเลจีนใต้มีความสำคัญในฐานะเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ ประกอบกับเป็นบริเวณที่เอื้ออำนวยต่อการทำการประมง นอกจากนี้ทะเลจีนใต้ยังเป็นบริเวณที่รุ่มรวยด้วยแหล่งแก๊สธรรมชาติ ซึ่งรัฐบาลจีนในทุกยุคทุกสมัยต่างมีมาตรการที่เข้มงวดต่อการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันของบริษัทซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐซึ่งมีส่วนได้เสียในการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ โดยการรักษาไว้ซึ่งสถานะของจีนในบริเวณทะเลจีนใต้ปรากฏให้เห็นผ่านการใช้เครื่องมือทางการทูตและการเจรจา เครื่องมือทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเครื่องมือทางการทหาร

Fravel เสนอว่า กลยุทธ์ซึ่งรัฐเลือกใช้เพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเหนือเขตแดนประกอบด้วย 3 แนวทางได้แก่ การสร้างความร่วมมือ (Cooperation) การเพิ่มระดับความรุนแรงของปัญหาผ่านการใช้กำลัง (Escalation/ Coercion) และการเตะถ่วง (Delaying Strategy) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่รัฐยังคงรักษาสถานะของการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนข้อพิพาท โดยปราศจากการใช้กำลังหรือลงนามในข้อตกลงอย่างเป็นรูปธรรม โดย Fravel ชี้ว่าจีนใช้กลยุทธ์การเตะถ่วงมาตั้งแต่ช่วงแรกของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1950 แต่ก็ปรากฏให้เห็นการปรับเปลี่ยนไปใช้รูปแบบของการใช้กำลังทางทหารในบางสมัย อย่างไรก็ดี รูปแบบหลักซึ่งรัฐบาลจีนเลือกใช้ยังคงเป็นกลยุทธ์การเตะถ่วงเป็นหลัก ทั้งนี้เหตุผลสำคัญซึ่งจีนเลือกใช้กลยุทธ์เตะถ่วงและไม่เลือกที่จะเพิ่มระดับความรุนแรงผ่านการใช้กำลังโดยตรง เพราะในช่วงแรกศักยภาพของกองเรือจีนยังมีจำกัด อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าพิจารณาว่าเมื่อจีนพัฒนาศักยภาพของกองทัพเรือเพิ่มสูงขึ้นเหนือรัฐอื่นอย่างมีนัยสำคัญ เป้าหมายหลักของกลยุทธ์เตะถ่วงของจีนก็อาจเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้กำลังได้ในท้ายที่สุด

Fravel ชี้ว่าการแก้ไขปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้ของจีนอาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปสู่การเจรจาและการประนีประนอมมากยิ่งขึ้น หากจีนตระหนักถึงประโยชน์ของการสร้างความร่วมมือว่ามีต้นทุนซึ่งจีนจำต้องแบกรับน้อยกว่ากลยุทธ์เดิม อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากแอกประวัติศาสตร์ของความพยายามสร้างความร่วมมือ อาทิ การเจรจาภายใต้กรอบ ASEAN ผลลัพธ์จากการเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาทกลับปรากฏให้เห็นในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าความสำเร็จในการผลักดันข้อตกลงดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ท้ายที่สุดแล้ว ปฏิเสธได้ยากว่า จีนจำต้อง “ชั่งน้ำหนัก” ต้นทุนของกลยุทธ์การใช้กำลังกับการสร้างความร่วมมือว่ากลยุทธ์ใดจะสร้างผลประโยชน์ให้จีนได้มากที่สุด ควบคู่กันไปกับการพิจารณาแรงต้าน/ปฏิกิริยาตอบสนองจากรัฐต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่บรรดารัฐซึ่งมีข้อพิพาทกับจีนต่างตระหนักถึงการขยับขยายอิทธิพลของจีนในบริเวณทะเลจีนใต้


[1] สรุปความจาก Fravel, Taylor M.  ‘China’s Strategy in the South China Sea’. Contemporary Southeast Asia. Vol. 33, No. 3, December 2011, pp. 292-319

[2] Ibid., 299

Leave a comment