Tag: balance of power

Kenneth Waltz : Anarchic Orders and Balances of Power

Anarchic Orders and Balances of Power by Kenneth N. Waltz


          บทความเรื่อง Anarchic Orders and Balances of Power เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ Theory of International Politics (1979) ของ Kenneth N. Waltz ซึ่งถือเป็นตำราเล่มสำคัญของสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในบทความชิ้นนี้ Waltz ต้องการชี้ให้เห็นการปฏิสัมพันธ์ของรัฐภายใต้โครงสร้างในระบบระหว่างประเทศแบบอนาธิปไตย (anarchic structure) ตลอดจนเสนอแนะทางเลือกของรัฐเพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงและความอยู่รอดปลอดภัยผ่านการถ่วงดุลอำนาจ (balance of power)  ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจข้อถกเถียงหลักของ Waltz ในงานชิ้นนี้ จะแบ่งการพิจารณาแนวคิดหลักของ Waltz  ออกเป็น 3 ส่วนได้แก่เรื่องอนาธิปไตย โครงสร้าง และการถ่วงดุลอำนาจ โดยท้ายที่สุดจะสรุปให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างแนวคิดทั้ง 3 อันถือเป็นแก่นหลักของข้อเสนอของนักสัจนิยมใหม่ (Neorealist) อย่าง Waltz ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามแต่ในการทำความเข้าใจแนวคิดหลักของ Waltz เลี่ยงมิได้ที่จะพิเคราะห์ถึงภูมิหลังและขนบทางความคิดซึ่งมีผลต่อการพัฒนาแนวคิดข้างต้นของ Waltz เสียก่อนเป็นอันดับแรก Waltz มีพื้นฐานทางความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ก่อนที่จะหันเหนความสนใจไปสู่รัฐศาสตร์ในภายหลัง อย่างไรก็ตามแต่ในงานเขียนของ Waltz หลายชิ้นสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลทางความคิดทางเศรษฐศาสตร์ซึ่ง Waltz ใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น  พิจารณาได้จากงาน Realist Thought and Neorealist Theory ซึ่งสะท้อนความพยายามของ Waltz ในการสร้างทฤษฏีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งยึดโยงอยู่กับความสำเร็จของเศรษฐศาสตร์ (Waltz, 2008)  นอกเหนือจากขนบทางความคิดแบบเศรษฐศาสตร์ เฉกเช่นเดียวกับนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคเดียวกับเขา Waltz ยังมีพื้นฐานทางทฤษฏีการเมือง[1]อันปรากฏให้เห็นได้ในงานของ Waltz ซึ่งมักหยิบยกความคิดและปรัชญาการเมืองของนักคิดหลายท่านอาทิ Machiavelli, Hobbes, Spinoza และ Kant  เพื่อใช้เป็นพื้นฐานทางความคิดอันปรากฏให้เห็นในงานชิ้นสำคัญๆเช่น Man, the State, and War (1959) ซึ่ง Waltz เสนอการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ (3 images/levels of international relations) ได้แก่ระดับบุคคล ระดับรัฐ และระดับระบบระหว่างประเทศนั่นเอง

แนวคิดเรื่องอนาธิปไตย

         Waltz เริ่มต้นงานชิ้นนี้ด้วยการชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการเมืองระหว่างประเทศ  (international politics) และการเมืองภายในประเทศ (domestic politics) ซึ่งมิได้อยู่ที่การใช้ความรุนแรง (violence) หากแต่อยู่ที่โครงสร้าง (structure) และรูปแบบขององค์กรภายใน (mode of organization) กล่าวคือในการเมืองภายในมีรูปแบบการจัดการองค์กรซึ่งมีรูปแบบสายบังคับบัญชา (hierarchy) กล่าวคือมีรัฐบาลผูกขาดอำนาจในการควบคุมดูแลและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในรัฐ ในทางตรงกันข้ามการเมืองระหว่างประเทศขับเคลื่อนอยู่ในสภาวะอนาธิปไตย (anarchy) โดยWaltz หยิบยกคำอธิบายของ Hobbes เพื่ออธิบายสภาวะอนาธิปไตยในสังคมระหว่างประเทศ โดย Hobbes ชี้ว่าในสภาวะก่อนการก่อตัวขึ้นของรัฐ (pre-state) หรือเรียกว่าเป็นสภาวะธรรมชาติ (state of nature) มีลักษณะ “โดดเดี่ยว ยากแค้น น่ารังเกียจ โหดร้าย และมีชีวิตสั้น”  (solitary, poor, nasty, brutish and short) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นสภาวะแห่งสงครามนั่นเอง (state of war) โดยในทรรศนะของ Waltz การเมืองระหว่างประเทศ เป็น Domain ซึ่งปราศจากรัฐบาลโลกในการควบคุมดูแล ตลอดจนค้ำประกันความมั่นคงปลอดภัย รัฐแต่ละรัฐจึงต้องช่วยเหลือตัวเอง (self-help) เพื่ออยู่รอดในระบบระหว่างประเทศโดยไม่สามารถไว้ใจหรือหวังพึ่งพารัฐอื่นได้ ทั้งนี้เหนือสิ่งอื่นใดในสภาวะอนาธิปไตย ความมั่นคงและความอยู่รอดปลอดภัยถือเป็นสิ่งที่รัฐให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก                         
ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการเมืองภายในประเทศและการเมืองระหว่างประเทศในทรรศนะของ  Waltz

           Waltz ใช้คำอุปมา (analogy) ทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออธิบายการพึ่งพาตนเองของรัฐในระบบระหว่างประเทศแบบอนาธิปไตย โดย Waltz ชี้ว่าในขณะที่การเมืองในประเทศการสร้างความชำนาญเฉพาะด้าน (specialization) ซึ่งเป็นแนวคิดที่พัฒนามาจากการแบ่งงานกันทำ (division of labor) เป็นสิ่งที่พบเห็นได้โดยทั่วไปเพราะก่อให้เกิดจำนวนผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เมื่อปรับใช้แนวคิดข้างต้นเพื่ออธิบายลักษณะของการสร้างความชำนาญเฉพาะตัวของบุคคลในแต่ละรัฐสะท้อนให้เห็นผ่านความชำนาญในอาชีพของแต่ละบุคคล และก่อให้เกิดการพึ่งพากันในท้ายที่สุด โดย Waltz ยกตัวอย่างความร่วมมือที่ปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างเมือง Kansas และ Washington กล่าวคือ Kansas จะจัดสรรวัตถุดิบทางการเกษตรให้กับ Washington และในทางกลับกัน Washington ก็จะให้ความคุ้มครองและค้ำประกันความมั่นคงปลอดภัยให้กับ Kansas อย่างไรก็ตามแต่ในบริบทระบบระหว่างประเทศแบบอนาธิปไตย รัฐไม่สามารถยินยอมให้เกิดการสร้างความชำนาญเฉพาะด้านได้ ซึ่งแม้การสร้างความชำนาญเฉพาะด้านจะนำมาซึ่งการเพิ่มพูนของผลประโยชน์ของรัฐ ยกตัวอย่างเช่นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามแต่ในสภาวะอนาธิปไตย รัฐไม่สามารถไว้ใจหรือฝากชะตาชีวิตของตนไว้กับรัฐหนึ่งรัฐใดได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งรัฐจำต้องดูแลตัวเองและลดระดับการพึ่งพิง (dependent) กับรัฐอื่นให้น้อยที่สุด เหนือสิ่งอื่นใด จุดประสงค์หลักของรัฐมิใช่การเพิ่มพูนผลประโยชน์ (maximize benefits) หากแต่คือการเอาตัวรอด (survive) ในสภาวะอนาธิปไตย โดย Waltz ชี้ให้เห็นว่ายิ่งรัฐสร้างความชำนาญเฉพาะด้านเพิ่มมากขึ้นเท่าได้ ยิ่งเป็นการพึ่งพิงกับรัฐอื่นๆมากขึ้นเท่านั้น (The more a state specializes, the more it relies on others.)

 แนวคิดเรื่องโครงสร้างในระบบระหว่างประเทศ

   Waltz แตกต่างจากนักสัจนิยมดั้งเดิม(Classical Realist) ซึ่งอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งยึดอยู่การอธิบายพฤติกรรมรัฐซึ่งยึดโยงอยู่กับพฤติกรรมของมนุษย์ อาทิ แนวคิดของ Morgenthau ซึ่งมองว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีลักษณะของ “Animus Dominandi” หรือมีความปรารถนาในอำนาจ (lust for power) นั่นเอง โดย Classical Realist ชี้ว่ารัฐในระบบระหว่างประเทศก็มิได้มีพฤติกรรมอันผิดแผกแตกต่างจากพฤติกรรมของมนุษย์         อย่างไรก็ตามแต่นักสัจนิยมใหม่ (Neorealist) อย่าง Waltz มิได้ศึกษาพฤติกรรมของรัฐ หากแต่ Waltz เสนอความคิดเรื่องโครงสร้าง (structure) โดย Waltz มอง state เป็น black box และไม่สนใจพฤติกรรมของแต่ละรัฐซึ่งถือเป็นปัจจัยภายใน (internal factor) หากแต่พิจารณาที่โครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเป็นสำคัญ โครงสร้างของระบบระหว่างประเทศในทรรศนะของ Waltz เป็นสิ่งที่กำกับควบคุม (constraint) รัฐและเป็นสิ่งที่รัฐไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ตลอดจนเป็นเครื่องกีดขวางความร่วมมือ (cooperation) ที่จะเกิดขึ้นระหว่างรัฐ โดยรัฐในมุมมองแบบ Realist ให้ความสำคัญกับ relatives gain[2] โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติทางความมั่นคง อย่างไรก็ตามแต่โครงสร้างในระบบระหว่างประเทศสามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงสมรรถนะหรือศักยภาพของแต่ละรัฐ ท้ายที่สุดแล้ว Waltz เชื่อว่ารัฐมีปฏิสัมพันธ์ภายใต้โครงสร้างในระบบระหว่างประเทศแบบอนาธิปไตยโดยการกระจายขีดความสามารถของรัฐ (distribution of power) นำไปสู่การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ บทบาท ตลอดจนพฤติกรรมของรัฐ โดยการกระจายขีดความสามารถของรัฐนี้มีความสำคัญยิ่งในการก่อตัวและการพัฒนาทางความคิดเรื่องโครงสร้างของ Waltz กล่าวคือ ในสภาวะอนาธิปไตย รัฐจำต้องพึ่งพาตัวเอง (self-help) เพื่ออยู่รอด อย่างไรก็ตามแต่รัฐแต่ละรัฐล้วนมีศักยภาพหรือขีดความสามารถที่แตกต่างกัน ทางเลือกของรัฐในทรรศนะของ Waltz คือการสร้างพันธมิตรและการถ่วงดุลอำนาจเพื่อรักษาไว้ซึ่งความอยู่รอดปลอดภัยของรัฐในท้ายที่สุดนั่นเอง

แนวคิดเรื่องการถ่วงดุลอำนาจ (balance of power)

         ภายใต้โครงสร้างของระบบระหว่างประเทศแบบอนาธิปไตย และรัฐจำต้องแสวงหาหนทางเพื่อค้ำประกันและรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงปลอดภัยของรัฐ  ซึ่ง Waltz ชี้ว่าหนทางหนึ่งคือการถ่วงดุลอำนาจซึ่งปรากฏให้เห็นผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจและการทหารภายในรัฐซึ่งจัดเป็นปัจจัยภายใน (internal factors) และการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับรัฐอื่นซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก (external factors) ทั้งนี้หากจะนิยามการถ่วงดุลอำนาจในทรรศนะของ Waltz อาจกล่าวได้ว่าคือการเข้าเป็นพันธมิตรกับรัฐอื่นๆเพื่อถ่วงดุลมิให้รัฐใดขึ้นมามีอำนาจเหนือตนนั่นเอง  อย่างไรก็ตามแต่นอกเหนือจากรูปแบบของการถ่วงดุลอำนาจ Waltz ยังชี้ให้เห็นว่ายังมีอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งรัฐอาจเลือกใช้เพื่อรักษาไว้ซึ่งความความอยู่รอดปลอดภัยของรัฐนั่นคือรูปแบบของการร่วมขบวน (bandwagon) หรือการเลือกเข้าข้างรัฐที่เข้มแข็งเพื่อรักษาไว้ซึ่งความอยู่รอด ตัวอย่างที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ Mussolini เลือกเข้าร่วมกับ Hitler ซึ่งทำให้อิตาลีมีสถานะเป็น Junior Partner ของเยอรมนีและสูญเสียอำนาจในการกำหนดนโยบายของตน (Waltz, 2008: 87) ภายใต้รูปแบบของโครงสร้างของระบบระหว่างประเทศแบบอนาธิปไตย Waltz ชี้ว่า รัฐจะเลือกใช้การถ่วงดุลอำนาจเนื่องจากไม่มีหลักประกันว่ารัฐที่เข้มแข็งกว่าจะไม่รุกรานตน เพราะเป้าหมายหลักของรัฐคือการรักษาไว้ซึ่งความอยู่รอดปลอดภัยนั่นเอง แม้ Waltz จะให้ความเห็นว่ารูปแบบการถ่วงดุลอำนาจเป็นรูปแบบที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดในการรักษาไว้ซึ่งความอยู่รอดของรัฐ แต่ Waltz ก็ยอมรับว่าแนวคิดเรื่องการถ่วงดุลอำนาจยังมีจุดอ่อนสำคัญ คือการคาดเดาสถานการณ์ได้อย่างจำกัด ยิ่งไปกว่านั้นแม้ Waltz จะพยายามพัฒนาและศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเชิงโครงสร้าง แต่ Waltz เองก็ยอมรับว่าปัจจัยภายในเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
กล่าวโดยสรุปแล้วในบทความชิ้นนี้ Waltz พยายามฉายภาพความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผ่านมุมมองของนักสัจนิยมใหม่ โดยงานของ Waltz สะท้อนความสัมพันธ์ของ 3 แนวคิดหลักอันได้แก่ แนวคิดเรื่องอนาธิปไตย โครงสร้างและการถ่วงดุลอำนาจซึ่งมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน กล่าวคือภายใต้แนวคิดเรื่องอนาธิปไตยอันปราศจากซึ่งรัฐบาลโลกหรือองค์กรอันมีอำนาจเหนือรัฐอธิปไตย รัฐมีวัตถุประสงค์ประการสำคัญคือความมั่นคงปลอดภัยและความอยู่รอดปลอดภัย รัฐจำต้องพึ่งพาตนเองและไม่สามารถที่จะไว้ใจหรือพึ่งพารัฐอื่นได้ ทั้งนี้แม้โดยหลักแล้วรัฐในสภาวะอนาธิปไตยจะมีความเท่าเทียมกันในแง่ของความเป็นรัฐอธิปไตย อย่างไรก็ตามแต่ความแตกต่างประการสำคัญคือศักยภาพหรือขีดความสามารถของแต่ละรัฐอันปราศจากซึ่งความเท่าเทียมกัน ความแตกต่างกันในเชิงศักยภาพของแต่ละรัฐมีผลสำคัญยิ่งต่อการก่อตัวทางความคิดเรื่องโครงสร้างของ Waltz ซึ่ง Waltz ชี้ว่าในระบบระหว่างประเทศรัฐทั้งหลายจะถูกกำหนดบทบาทและพฤติกรรมผ่านศักยภาพและโครงสร้างของระบบระหว่างประเทศ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงปลอดภัย การถ่วงดุลอำนาจถือเป็นยุทธวิธีอันทรงประสิทธิภาพมากที่สุด

บรรณานุกรม

Theory talks. ” Kenneth Neal Waltz – The Physiocrat of International
Politics.”[Online]. Available: http://www.theory-talks.org/2011/06/
theory-talk-40.html
Waltz, Kenneth N. Man, the state and war : A theoretical analysis , New York :
Columbia University Press, 1959.
________________. Theory of international politics , London : Addison-Wesley
Publishing Company, 1979
________________. Realism and international politics, London :
Routledge, 2008


[1] Waltz ให้สัมภาษณ์ว่าแท้จริงแล้วเขามีความประสงค์ที่จะสอนในสาขาทฤษฏีการเมือง แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาไม่มีตำแหน่งว่าง ดังนั้นเขาจึงไปสมัครในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดูเพิ่มเติมที่ http://www.theory-talks.org/2011/06/theory-talk-40.html

[2]มุมมองแบบ relative gain เป็นมุมมองของสำนักคิดในสกุลสัจนิยมซึ่งให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของรัฐที่ได้เปรียบรัฐอื่นในเชิงเปรียบเทียบและไม่ต้องการให้รัฐอื่นได้ผลประโยชน์มากกว่าตน โดยมุมมองเช่นนี้ตรงข้ามกับมุมมองของสำนักเสรีนิยมซึ่งเสนอสิ่งที่เรียกว่า absolute gain อันมองว่ารัฐทั้งหลายแม้จะได้ผลประโยชน์โดยไม่เท่าเทียมกัน แต่รัฐทุกรัฐก็ล้วนได้ผลประโยชน์ด้วยกันทั้งสิ้น