Category: ระหว่างประเทศ

จาก “9/11” ถึงสงครามอิรัก : พิจารณาการครองอำนาจนำ
ของสหรัฐอเมริกาผ่านแนวคิดนีโอกรัมเชี่ยน
(Neo – Gramscianism)

Thapiporn Suporn
Faculty of Social Sciences
Department of Political Science

Ferdinand Marcos, likened power to
 “a gun with a thousand bullets that must never be fired.”
 Ferdinand Marcos (1917-1989)
 10th President of the Philippines


 

จากคำกล่าวข้างต้น สามารถ “สะท้อน” ให้เห็นถึงศิลปะในการใช้อำนาจ ไม่ใช่แค่เพียงในระดับ “รัฐชาติ” แต่สามารถอธิบายถึงการใช้อำนาจของรัฐมหาอำนาจในระดับ “การเมืองระหว่างประเทศ”ได้อีกประการหนึ่งด้วย  โดยฉายภาพการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม อันนำมาซึ่งความเสื่อมถอย(Decline)และปฏิกริยาต่อต้านการครองอำนาจ (Counter-Hegemony)ตามมุมมองแบบกรัมเชี่ยน (Gramscianism) ของอันโตนิโอ กรัมชี่(Antonio Gramsci) ซึ่งกลายเป็นกรอบความคิดที่มีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์การเมืองระหว่าง ประเทศ[1] โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดแบบนีโอกรัมเชี่ยน(Neo-Gramscianism) ซึ่งฉีกกรอบจากอรรถาธิบายตามแนวคิดกระแสหลัก (Mainstream)ที่ครอบงำการวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศมาช้านาน อาทิ แนวคิดของกลุ่มสัจนิยม(Realism) หรือแนวอุดมคตินิยม(Idealism)

งานเขียนชิ้นนี้ผู้เขียนมีเจตนาที่จะหยิบยกประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ(International  Relations)ในกรณีเหตุการณ์วินาศกรรมเมื่อ วันที่ 11 กันยายน ค.ศ.2001 หรือ ที่รู้จักกันในเหตุการณ์“9/11”ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่สั่น สะเทือน “ภาพมายาคติ”(Myth) ความยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาที่ถูกท้าทายจาก“ขบวนการก่อการร้าย” ซึ่งถือเป็นวาทกรรม(discourse)[2] ในสังคมการเมืองระหว่างประเทศที่ผ่านการผลิตและผลิตซ้ำ(reproduce)โดยสหรัฐ อเมริกาเพื่อสร้างความชอบธรรมในการรุกรานชาติอื่นๆภายใต้นโยบายชิงโจมตี ก่อน(Preemption)ของรัฐบาล จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ตลอดจนความพยายามที่จะสถาปนา “ระเบียบโลกใหม่”(New WorldOrder)ให้หมุนตามความต้องการของวอร์ชิงตัน(Washington)

นอกจากนี้ผู้เขียนยังต้องการตอบคำถามที่สำคัญสามประเด็นดังต่อไปนี้

  • ประเด็นแรก คือ ต้องการอธิบายที่มาและสภาพของปัญหาทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์การก่อ วินาศกรรมเมื่อ วันที่ 11 กันยายน ค.ศ.2001ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาที่ ถูกโจมตีในแผ่นดินของตนเองโดยจะพิจารณาถึงท่าทีและนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ อเมริกาภายหลังจากการถูกลอบโจมตีตึกเวิร์ลเทรดเซนเตอร์ และตึกเพนตากอน ตามมาซึ่งการประกาศทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย การบุกอัฟกานิสถานในค.ศ.2001 และการบุกรักอิรัก ในค.ศ.2003 ตามลำดับ
  • ประเด็นที่สอง คือ การวิเคราะห์เหตุการณ์การก่อวินาศดังกล่าวว่าสะท้อนให้เห็นประเด็นปัญหาใดใน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและมีความสำคัญ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสังคมระหว่างประเทศและต่อประเทศไทยอย่างไร
  • ประเด็นที่สาม คือการวิเคราะห์เหตุการณ์การก่อวินาศกรรม ผ่านกรอบแนวคิดนีโอกรัมเชี่ยน (Neo-Gramscian) โดยเน้นอธิบายในประเด็นการครองอำนาจนำ (Hegemony) ปฏิกิริยาต่อต้านการครองอำนาจนำ(Counter-Hegemony)ที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งวิเคราะห์แนวโน้มของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เหตุการณ์ก่อ วินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001หรือ 9/11 เกิดขึ้นเมื่อกลุ่ม “ผู้ก่อการร้าย” ตามมุมมองของสหรัฐอเมริกา จี้เครื่องบินโดยสาร 4 ลำ[3] ลำแรกเป็นเครื่องบินพานิชย์ โบอิง 767-200 เที่ยวบินที่ 11 ของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์พุ่งเข้าชนตึก เวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ 1(อาคารเหนือ)  อีกลำหนึ่งคือเครื่องบินโบอิง 767-200 เที่ยวบินที่ 175 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ซึ่งพุ่งเข้าชนตึก เวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ 2(อาคารใต้)   ซึ่งถือว่าตึกแฝดคู่นี้เป็นสัญลักษณ์ของนครนิวยอร์ก และทุนนิยม(Capitalism)อันรุ่งโรจน์ของสหรัฐอเมริกา

เครื่องบินที่ถูกจี้อีกสองลำคือ เครื่องบินโบอิง 757-200 เที่ยวบินที่ 77 ของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์และ เครื่องบินโบอิง 757-200 เที่ยวบินที่ 93 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ซึ่ง เครื่องบินโบอิง 757-200 เที่ยวบินที่ 77 พุ่งเข้าชนตึก เพ็นตากอน (Pentagon) ที่ทำการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ณ กรุงวอชิงตัน  ในขณะที่เครื่องบินโบอิง 757-200 เที่ยวบินที่ 93 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ตกที่เมืองซอมเมอร์เซ็ต รัฐเพนซิลวาเนีย

จากเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมดเกือบ 3 พัน โดยเป็นผู้โดยสารลูกเรือรวมทั้งสลัดอากาศบนเครื่องบินทั้งหมด 246 คน ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตึกถล่มอีก 2,602 คน รวมไปถึงนักผจญเพลิง 343 คนและตำรวจอีก 60 คน อีกทั้งยังมีผู้สูญหายอีก 24 คน[4]

ภายหลังจากโศกนาฏกรรมดังกล่าวเพียง 9 วัน จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ประธานาธิบดีก็ได้ประกาศในที่ประชุมครองสภาครองเกรสว่า “ทุกชาติ ทุกภูมิภาค ขณะนี้ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกอยู่ข้างเราหรืออยู่ข้างผู้ก่อการร้าย”[5] และถือได้ว่าคำกล่าวดังกล่าวเป็น “หลักหมุดแรก”
ของการประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on Terrorism) ซึ่งตามมาด้วยคำถามว่าแท้จริงแล้วสหรัฐอเมริกาประกาศสงครามกับใคร และเพื่อวัตถุประสงค์ใดกันแน่

ประธานาธิบดีบุชได้ตัดสินใจนำสหรัฐอเมริกา เข้าสู่สงครามในอัฟกานิสถานใน ปี2001 โดยอ้างว่ารัฐบาลตาลีบันและอัฟกานิสถานให้การสนับสนุน ประกอบกับเป็นฐานที่มั่นของการฝึกของผู้ก่อการร้ายกลุ่มอัลเคด้า(Al Qaeda) ภายใต้การสนับสนุนของโอซามา บินลาเด็น(Osama bin Laden) ซึ่งครั้งหนึ่งอัฟกานิสถานและบินลาเด็นเคยเป็นมิตรที่ดีต่อสหรัฐอเมริกาใน ช่วงสงครามเย็น เพราะรัฐบาลสหรัฐในขณะนั้นให้การสนับสนุนรัฐบาลตาลิบันเพื่อต่อต้านอำนาจของ สหภาพโซเวียต

หลังจากสงครามในอัฟกานิสถาน สหรัฐฯ ก็หันไปสนใจกับประเทศที่เชื่อว่ากำลังพัฒนาหรือครอบครองอาวุธทำลายล้าง สูง(Weapon of Mass Destruction : WMD) ตลอดจนให้การสนับสนุนการก่อการร้าย โดยเจาะจงที่ประเทศอิรัก อิหร่าน และเกาหลีเหนือ ซึ่ง บุช ได้เรียกประเทศประกาศว่าเป็นแกนแห่งความชั่วร้าย (Axis of Evil)[6]

ในปี 2003 บุช ตัดสินใจทำสงครามกับอิรักเพื่อโค่น ล้มซัดดัม ฮุสเซน(Saddam Hussein) โดยกล่าวหาว่าอิรักนั้นมีอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง(Weapons of Mass Destruction) ไว้ในครอบครอง ประกอบกับรัฐบาลพรรคบาธ(Baath Party)ในสายตาของสหรัฐฯมีการปกครองที่ขัดต่อระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษย ชนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนระบอบการปกครอง(regime change) เสียใหม่ให้เป็นไปตามแนวทางของ “ประชาธิปไตย” ที่สหรัฐอเมริกาต้องการ

แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะขาดหลักฐานที่เพียงพอประกอบกับมิได้รับการสนับสนุนจาก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council : UNSC)[7] แต่สหรัฐก็ยังยืนยันที่จะทำสงครามในอิรักโดยชูเรื่อง สิทธิมุนษยชนและประชาธิปไตย  ซึ่งเท่ากับว่าสหรัฐอเมริกาตัดสินใจดำเนินนโยบายแบบเอกภาคี นิยม(Unilateralism) โดยมีพันธมิตรอย่างอังกฤษที่พร้อมให้การสนับสนุนการทำสงครามในอิรักอย่าง เต็มที่ แม้จะมีเสียงทัดทานจากชาติต่างๆในโลกที่ไม่เห็นด้วยก็ตาม

ทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษปฏิบัติการทางทหารอย่างเต็มรูปแบบ [8]โดย ใช้กำลังรบภาคพื้นดินควบคู่กับการโจมตีทางอากาศบุกเข้าอิรักจากทางตอนใต้ ผ่านเมืองสำคัญคือเมืองท่าอุมคาซาร์ บาซราห์ นาซิริยา นาจาฟ จนเข้าสู่กรุงแบกแดด โค่นล้มรูปปั้นของซัดดัมในใจกลางเมืองหลวงอันเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดของ ระบอบการปกครองของซัดดัม(Saddam’s Regime)ในท้ายที่สุด[9]

ปฏิเสธมิได้ว่าการก่อ วินาศกรรมในครั้งนี้มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจและระบบการ เมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการศึกษาของสาขาวิชา รัฐศาสตร์(Political Science) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ(International Relations)

มีนักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นว่าการก่อวินาศกรรมในครั้งนี้มีลักษณะของการก่อสงครามแบบหลังสมัยใหม่(Postmodern War)  [10] ชัยวัฒน์ สถาอนันต์ชี้ว่า “ความเป็นหลังสมัยใหม่” ของการโจมตีในเหตุการณ์ “9/11” คือการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มิใช่อาวุธให้กลายเป็นอาวุธ[11] นั่นคือการใช้ “เครื่องบินพาณิชย์” ซึ่งมิใช่อาวุธสงคราม  แต่กลับมีอานุภาพในการทำลายล้างมิได้ยิ่งหย่อนไปกว่าการใช้อาวุธที่มีพลัง ทำลายล้างสูงแต่อย่างใด นอกจากนี้ความเป็นหลังสมัยที่เห็นได้ชัดคือการปราศจากซึ่ง “เรื่องเล่าขนานใหญ่”(Metanarratives)[12] โดยมิได้มีผู้ใดหรือกลุ่มใด “อวดอ้าง”หรือออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนตามรูปแบบปกติ

แต่ผู้เขียนมองว่าความเป็นสมัยใหม่(Modernity) หรือ “เรื่องเล่าขนานใหญ่” ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ แต่เป็นเรื่องเล่าที่ถูกเล่าขานจากผู้ถูกกระทำอย่างสหรัฐอเมริกาแต่เพียง ฝ่ายเดียว  รวมทั้งยังเป็นเรื่องที่ถูกผลิตซ้ำ(Reproduce)จากสื่อมวลชนของสหรัฐและสังคม การเมืองระหว่างประเทศ โดยอาศัยข้อได้เปรียบของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ซึ่ง เดวิด ฮาร์วีย์ (David Harvey)ให้อรรถาธิบายว่าเป็น “โลกของการกระชับแน่นระหว่างเวลาและสถานที่” (Time – space compression )[13] ซึ่งทำให้การถ่ายโอนข้อมูลข่าวสาร สามารถกระทำได้อย่างฉับไว ซึ่งทำให้ความแตกต่างระหว่างสถานที่เลือนหายไป และทำให้เราสามารถรับรู้เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นอีกซีกโลกหนึ่งภายในเวลา พร้อมๆกัน(Simultaneity )

ดังนั้นเมื่อ “ภาพการก่อการร้าย” ถูกถ่ายทอดผ่านระบบเทคโนยีสารสนเทศอันทันสมัย “ฉายภาพ” ของเครื่องบินที่ถูกจี้โดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายพุ่งเข้าชนตึกเหนือ/ใต้ของตึก เวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์(World Trade Center) นับสิบๆครั้ง ซึ่งก่อให้เกิดอารมณ์/ความรู้สึกร่วมของผู้ชม มิใช่เพียงแค่ภายในสหรัฐอเมริกา แต่รวมทั้งผู้คนจาก “ทั่วทั้งโลก” ที่เฝ้ามองภาพการพุ่งชนแฝดสัญลักษณ์(Symbol)ของทุนนิยม และมหานครนิวยอร์กซ้ำแล้วซ้ำอีก เท่ากับเป็น “การสร้างภาพ” ความน่าสงสารในฐานะ “ผู้ถูกกระทำ” และสร้างความโกรธแค้นขึ้นในจิตใจของผู้ชมและผู้สูญเสีย ที่มาพร้อมกับภาพความโหดร้ายของ “ผู้กระทำ” ของชาติพันธุ์อาหรับ(Arab)และศาสนาอิสลามไปโดยปริยาย

แน่นอนว่าการก่อร้าย/ถูกโจมตีจากการก่อการร้าย โดยเฉพาะยิ่งในแผ่นดินของรัฐมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาย่อมสั่นสะเทือนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ(International Politics) และสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของรัฐประชาชาติ (National state) ที่ถูกท้ายทายจากตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ(Non-State Actor) หรือจาก หรืออาจกล่าวได้ว่า “การก่อวินาศกรรม” ครั้งนี้มิใช่การต่อสู้ระหว่างรัฐอธิปไตยอีกต่อไป[14] แต่เป็นรูปแบบของกลุ่ม “ผู้ก่อการร้ายที่ปราศจากรัฐ” ที่สามารถทำการ “โจมตีเชิงสัญลักษณ์” ต่อทุนนิยมและกองบัญชากองกำลังทหารที่แข็งแกร่งที่สุดของโลก(The Pentagon)
การโจมตีในครั้งนี้ นอม ชอมสกี้ (Noam Chomsky) ชี้ว่าเป็นครั้งแรกที่สหรัฐถูกถล่มโดยตรง[15] ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินของบุช (Bush’s Administration) ต้องการพยายามรักษาสถานะของทำเนียบขาว ตลอดจนตอบคำถามจากการโจมตีในครั้งนี้ต่ออเมริกันชนและชาวโลกให้ได้  ซึ่งบุชพุ่งเป้าไปที่กลุ่มอัลเคด้าและนายโอซามา บินลาเด็น

ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นการสั่นคลอนอำนาจของรัฐประชาชาติและ “สถาปัตยกรรมทางการเมืองระหว่างประเทศ”  ตลอดจนทำให้ประเด็นปัญหาด้านความมั่นคงกลับมาทวีความสำคัญอีกครั้ง จะเห็นได้จากนโยบายด้านความมั่นคง (Security policy) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการจัดตั้งกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ(Department of Homeland Security)[16] เพื่อบริหารจัดการและดูแลความมั่นคงของประเทศเป็นกรณีพิเศษโดยมิต้องอยู่ใต้การตรวจสอบของรัฐสภา

สหรัฐยังเริ่มลิดรอน/คุกคาม สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน  ประกอบกับการตรวจตราอย่างเข้มงวดบริเวณสนามบิน หรือแม้แต่กระทั่งการคุมตัวผู้ต้องขัง/การปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยอย่างทารุณ ผ่านเทคนิคการสอบสวนเพื่อให้ได้มาซึ่งความจริง เพื่อเป็น “การสลายตัวตน” ของชาวมุสลิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของชาวมุสลิมผู้เคร่งศาสนา (Islamic Fundamentalists)

ยิ่งไปกว่านั้นสหรัฐอเมริกาภายใต้ลัทธิบุช(Bush Doctrine) อันเกิดจากการผสมผสานแนวคิดของพวกอนุรักษ์นิยมใหม่(Neo-conservative)ซึ่ง ให้ความสำคัญกับการใช้ความรุนแรงเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ[17] ได้กลายเป็นแก่นสำคัญของการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา โดยนำพาสหรัฐสู่การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบเอกภาคี นิยม(Unilateralism)หรือแบบ “ลุยเดี่ยว”(Go-it-alone)[18] โดยไม่สนใจเสียงทัดทานจากนานาประเทศ

คำพูดของประธานาธิบดีบุชเกี่ยวกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะยิ่งเป็นตัว “กระตุ้น”และส่งสัญญาณไปยังชาติพันธมิตรของสหรัฐและชาติที่ยัง “เป็นกลาง” ให้ตัดสินใจเลือกข้าง หรือแสดงท่าทีตอบสนองต่อนโยบายของสหรัฐ  โดยข้อความที่มัก “ถูกหยิบยก” มาพูดถึงคือ ทุกชาติ ทุกภูมิภาค ขณะนี้ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกอยู่ข้างเราหรืออยู่ข้างผู้ก่อการร้าย[19] ซึ่งเท่ากับนำพาโลกไปสู่สมัยยุคสงครามเย็นอีกครั้ง กล่าวคือประเทศต่างๆในโลกไม่มีทางเลือกมากนักโดยจำเป็นจะต้องเลือกว่าจะอยู่ กับสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพโซเวียต

คำพูดของบุชยังทำหน้าที่โดยการฉายภาพโลกในยุคหลังสงครามเย็น(Post Cold War) ที่มักถูกมองว่าเป็นโลกหลังสมัยใหม่(Postmodern World) กลับสู่วงเวียนของความเป็นสมัยใหม่(Modernity) อีกครั้งผ่านการมองสิ่งต่างๆแบบ “ทวิลักษณ์ปฏิภาคสัมพันธ์” หรือ “แบบคู่ตรงข้าม” (Binary Opposition)[20] ซึ่งเป็นการแบ่งแยกระหว่างชาติที่อยู่ข้างสหรัฐและชาติที่อยู่ข้างกลุ่มก่อ การร้าย หรือถ้าจะชี้ชัดลงไปตามมุมมองของสหรัฐคือ การแบ่งฝ่ายระหว่างธรรมะ/อธรรม หรือ พระเอก/ผู้ร้าย นั่นเอง

การประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย(war on terror) ส่งผลกระทบต่อสภาวการณ์ทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  ทำให้ชาติต่างๆต้อง “ขานรับ”นโยบายของสหรัฐทั้งที่เต็มใจ/กึ่งเต็มใจในเชิงบังคับ  อาทิประเทศญี่ปุ่นที่มีจุดยืนแน่นอนในการสนับสนุนสหรัฐในการทำสงครามต่อต้าน การก่อการร้าย ซึ่งแม้ญี่ปุ่นจะมีข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ที่ห้ามมิให้มีกองกำลังทางทหารก็ตาม แต่สามารถมีกองกำลังป้องกันตนเอง(Self-Defense Force : SDF) ได้ [21]

ใน ปีค.ศ.2001 เมื่อวันที่ 25 พฤจิกายน ญี่ปุ่นได้ส่งเรือรบสามลำสู่มหาสมุทรอินเดีย เพื่อให้การสนับสนุนที่ไม่ใช่การรบต่อกองทัพสหรัฐและพันธมิตรในการบุก อัฟกานิสถาน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ทหารญี่ปุ่นออกไปปฏิบัติการนอกประเทศ นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง[22] จุดนี้เองเราจะเห็นได้ถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริก ที่มีมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง[23]โดยนายกรัฐมนตรีจุนอิชิโร โคอิซูมิ (Junichiro Koizumi) ได้กล่าวย้ำถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศไว้ว่า ญี่ปุ่นต้องสนับสนุนการโจมตีอิรักของสหรัฐอเมริกาในฐานะที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาซึ่งต่อมาภายหลังญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือทั้งการสนับสนุนทางการเงินและการส่ง กองกำลังป้องกันตนเองจำนวน 1,100 คน เพื่อปฏิบัติภารกิจทางตอนใต้ของอิรัก ในปี 2003[24]

นอกจากนี้ชาติพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐเช่น สมาชิกในกลุ่มนาโต้(North Atlantic Treaty Organization  : NATO)[25] อาทิ พันธมิตรที่สำคัญอย่าง เยอรมนี ก็ให้การสนับสนุนสหรัฐในการทำสงครามครั้งนี้เช่นเดียวกัน โดยเมื่อมีการสำรวจความคิดเห็นของคนเยอรมันโดย the Allensbach Institute for Public Opinion Research จากประชาชนจำนวน 2000 คน โดยพบว่าผู้คน2 ใน 3 ประสงค์ให้เยอรมนีปรับปรุงกองทัพให้เข้มแข็งหลังเหตุการณ์ 9/11 ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นต่อไปอีกว่าชาวเยอรมันมีความกังวลและมีประชาการถึง1 ใน 4 ที่คิดว่าศาสนาอิสลามเป็นปัญหา[26]

ประเทศไทยภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินของ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตรก็ขานรับนโยบายการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐอเมริกาเช่น เดียวกัน โดยกระทรวงกลาโหมได้จัดส่งกองกำลังทหารไทย จำนวน 886 นาย ไปปฏิบัติการ โดยใช้ชื่อ กองกำลังเฉพาะกิจไทย / อิรัก มีภารกิจสนับสนุนทั่วไปให้กับกองกำลังผสมนานาชาติ (MULTINATIONAL DIVISION SOUTH CENTRAL หรือชื่อย่อ MND SC) เกี่ยวกับงานช่างสนาม และงานช่างก่อสร้างสนับสนุนการฟื้นฟูบูรณะอิรัก เช่น การซ่อมสร้างถนน อาคาร และระบบสาธารณูปโภคที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม (ไม่รวมการเก็บกู้วัตถุระเบิด) การบริการทางการแพทย์ และการปฏิบัติการกิจการพลเรือน มีระยะเวลาการปฏิบัติภารกิจ ปฏิบัติภารกิจ 1 ปี ส่วนงบประมาณให้ตกลงกับสำนักงบประมาณต่อไป[27]

นอกจากนี้ประเทศต่างๆ ยังส่งกองกำลังที่มีขนาดเล็กมากไปสมทบในการทำสงครามในอิรักด้วย อาทิ กองกำลังจากบัลแกเรีย 480 นาย ฮังการี 441นาย เอลซัลวาดอร์ 360 นาย ฮอนดูรัส 360 นาย สาธารณรัฐโดมินิกัน 300 คน โรมาเนีย 205 คน มองโกเลีย 174 นาย แลตเวีย 103 นาย สโลวีเนีย 82 นาย ลิทัวเนีย 45 นาย คาซัคสถาน 27 นาย ฟิลิปปินส์ 177 นายและ นิคารากัว 120 นาย[28]

การทำสงครามต่อต้าน การก่อการร้ายของสหรัฐได้สะท้อน(Reflect) “ความพยายาม”ในการรักษาอำนาจผ่านการครองอำนาจนำของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเราสามารถพิจารณา/ ทำความเข้าใจการครองอำนาจผ่านกรอบความคิดแบบกรัมเชี่ยน(Gramscian)/นีโอกรัม เชี่ยน(Neo-Gramscianism)ของอันโตนิโอ กรัมชี่(Antonio Gramsci) ซึ่งแท้จริงแล้วทั้ง Gramscianism และ Neo-Gramscianism มิได้มีความต่างกันทางนัยสำคัญมากนัก เพราะใช้แนวทางของกรัมชี่เป็นแนวหลักในการวิเคราะห์และวิพากษ์ปรากฏการณ์ทาง การเมืองเช่นเดียวกัน[29] แต่ Neo-Gramscianism นั้นเป็นการพยายามที่จะนำแนวคิดของกรัมชี่เชื่อมโยงเข้ากับการศึกษาความ สัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยมีนักวิชาการรุ่นแรกๆของสำนักนีโอกรัมเชี่ยน[30] ได้แก่ Stephen Gill[31] และ Robert Cox [32] โดยนักกลุ่มนักคิดที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันนี้ได้แก่ Andreas Bieber และ Adam David Morton

กรัมชี่เป็นนักคิดชาวอิตาเลียนที่นิยมแนวคิดแบบมาร์กซิสและเป็นหนึ่งใน สมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี แต่อิตาลีในขณะนั้นเป็นช่วงที่กระแสฟาสซิสม์กำลังเรืองอำนาจ ภายใต้ผู้นำอย่างเบนิโต มุโสลินี(Benito Mussolini) ซึ่งมีแนวทางขัดแย้งกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้ใน ค.ศ. 1926 กรัมชี่ต้องถูกจำคุก แต่ระหว่างการถูกจองจำเขาได้เขียนหนังสือและบทความออกมาอย่างมากมายและมี อิทธิพลต่อนักวิชาการรุ่นหลังที่สนใจในแนวคิดของเขา โดยเฉพาะหนังสือ Prison Notebooks  ซึ่งได้อธิบายเกี่ยวกับการครองอำนาจนำ (Hegemony) ซึ่งถือเป็นสารัตถะที่สำคัญที่สุดของแนวคิดแบบกรัมเชี่ยน

แนวคิดที่สำคัญของกรัมชี่คือแนวคิดเรื่องการครองอำนาจนำ หรือ Hegemony นั้นมาจากคำว่า Hegemon ในภาษากรีก แปลว่า การนำ หรือการมีอำนาจเหนือผู้อื่นและมักใช้ในความหมายของการครองอำนาจนำทางการ เมือง (Political Dominance)[33]

แนวคิดแบบกรัมเชี่ยนนนั้นให้ความสำคัญกับอุดมการณ์ และ และโครงสร้างส่วนบน(Superstructure) ซึ่งต่างจากพวกมาร์กซิสต์คนอื่นๆที่มองว่าโครงสร้างส่วน ล่าง(Base/Substructure) นั้นมีความสำคัญมากกว่า โดยมองว่าโครงสร้างส่วนล่าง อันได้แก่ วิถีการผลิต(Mode of Production) ซึ่งประกอบด้วย พลังในการผลิต(Productive Force : ฝ่ายแรงงาน) และความสัมพันธ์ในการผลิต(Relation of  Production : ฝ่ายนายทุน) ซึ่งทั้งพลังในการผลิตและความสัมพันธ์ในการผลิตนั้นมักมีความขัดแย้งกัน ปรากฏให้เห็นในรูปแบบของการต่อสู้ทางชนชั้น(Class Struggles)

กรัมชี่แย้งว่าโครงสร้างส่วนบน เช่น  ระบบกฎหมาย ความเชื่อ ศีลธรรม ปรัชญา การศึกษา และสถาบันทางการเมืองเป็นต้น มีความสำคัญและเป็นสิ่งที่บรรดามาร์กซิสดั้งเดิม (Classical Marxist) ละเลย และมองว่าโครงสร้างส่วนบนนี้ก็เป็นตัวที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้เช่นเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้นหากรัฐหรือผู้ปกครองต้องการครองอำนาจนำในสังคมได้อย่างเบ็ด เสร็จเด็ดขาด(Absolute Domination) มีความจำเป็นที่จะต้องยึดอำนาจโครงสร้างส่วนบนและโครงสร้างส่วนล่างให้ได้ ทั้งสองส่วน  การที่จะสามารถครองอำนาจนำในสังคมได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ต้องกระทำผ่าน สิ่งที่เรียกว่า กลุ่มประวัติศาสตร์(Historical Bloc) เพื่อสร้างหรือแปรสภาพ(transform)ความคิดความเห็นของกลุ่มต่างๆในสังคมไม่ ว่าจะเป็นกลุ่มที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ให้ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างเอกภาพระหว่างผู้ครองอำนาจนำและผู้ถูกครองอำนาจ ซึ่งทำให้ผู้ถูกครองอำนาจถูกครอบนำทางความคิดอย่างสมบูรณ์[34]
กรัมชี่อธิบายการครองอำนาจนำในโครงสร้างส่วนบน เป็น 2 กรณี

  • กรณีแรกได้แก่ การใช้อำนาจบังคับ (Coercion) คือ การใช้อำนาจรัฐหรือการใช้กำลังเพื่อควบคุมคนในสังคมให้ไม่สามารถรวมตัว หรือลุกฮือต่อต้าน โค่นล้มระบบหรืออำนาจรัฐได้ และรูปแบบการใช้กำลังบังคับนั้นมักเกิดในประเทศที่มีการพัฒนาทางสังคมใน ระดับต่ำ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงก่อนการปฏิวัติรัสเซีย  เป็นต้น
  • กรณีที่สองได้แก่ การสร้างความยินยอมพร้อมใจ (Consent) คือ การควบคุมหรือครอบงำสังคม โดยปราศจากการใช้กำลัง แต่เน้นการสร้างความยินยอมพร้อมใจ (Spontaneously Consensus)[35] เพื่อครอบงำทางความคิด ผ่าน ระบบกฏหมาย ความเชื่อ ทัศนคติ ศีลธรรม วัฒนธรรม ปรัชญา การศึกษา ฯลฯ โดยที่ผู้ที่ถูกครอบงำไม่รู้ตัวว่ากำลังตกอยู่ในการครอบงำอยู่และกลายเป็น สามัญสำนึก (Common Sense) ของกลุ่มคนในสังคมนั้นๆไปในที่สุด โดยรูปแบบการสร้างความยินยอมพร้อมใจนี้มักเกิดในประเทศที่เจริญแล้วเช่นใน ยุโรปตะวันตก

นอกจากนี้กรัมชี่ยัง อธิบายการใช้อำนาจบังคับ (Coercion)และการสร้างความยินยอมพร้อมใจ (Consent) ว่าสามารถกระทำผ่านสังคมการเมือง(Political  Society) และประชาสังคม( Civil Society)[36]กรัมชี่ให้ความสำคัญกับการสร้างความยินยอมพร้อมใจ(Consent) ที่กระทำผ่านประชาสังคม  โดยทำหน้าที่ครอบงำสังคมผ่าน สถาบัน ต่างๆในประชาสังคมที่ล้วนถูกสร้างโดยผู้ปกครอง/ชนชั้นปกครองเพื่อใช้ครอบงำทางความคิด[37]หรือ อุดมการณ์ทางสังคม อันได้แก่ โรงเรียน ครอบครัว ศาสนา ความเชื่อ สื่อสารมวลชน ฯลฯ และอาจกล่าวได้ว่าประชาสังคมนั้นเป็นเครื่องมือในการครองอำนาจนำของชนชั้น นายทุนในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งประชาสังคมในระบบทุนนิยมประชาธิปไตยนั้นทำหน้าที่ปกป้องทุนนิยมจากการ ปฏิวัติหรือการต่อสู้[38] เพราะจะเป็นสิ่งที่สามารถควบคุมสังคมได้ในระยะยาวและมั่นคงกว่าการใช้อำนาจ บังคับ (Coercion) เพราะสามารถยึดครองพื้นที่ทางความคิด (War of Position)ในประชาสังคมได้สำเร็จนั่นเอง [39]

แนวคิดแบบกรัม เชี่ยน(Gramscianism) มิได้ให้อรรถาธิบายเกี่ยวกับบริบทการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เรากำลังพยายามทำความเข้าใจท่าทีและนโยบายต่างประเทศ ของสหรัฐอเมริกาภายใต้รัฐบาลบุชว่ามีลักษณะของความพยายามในการครองอำนาจ นำ(Hegemony)ในรูปแบบใด

อย่างไรก็ตามแต่เราสามารถหยิบยกแนวคิดนีโอกรัมเชี่ยน (Neo-Gramscianism) ซึ่งเป็นการขยายพื้นที่การอธิบายตามแนวคิดแบบกรัมชี่สู่พื้นที่ความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ (International Realm) ตามแนวทางของโรเบิร์ต ค็อกซ์ (Robert Cox) นักคิดของรุ่นแรกของสำนักนีโอกรัมเชี่ยน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มิได้ยึดติดอยู่กับมิติทางเศรษฐกิจหรือตัวแสดงอย่างชนชั้น นายทุน(Bourgeois)และชนชั้นแรงงาน(Proletariat) ดังเช่น นักมาร์กซิสดั้งเดิม(Traditional  Marxist)

พฤติกรรมของสหรัฐใน เวทีการเมืองระหว่างประเทศภายหลังเหตุการณ์ 9/11 จะเห็นได้ว่าสหรัฐใช้มีแนวทางในการใช้อำนาจบังคับและการสร้างความยินยอม พร้อมใจทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ    โดยความพยายามในการสร้างความยินยอมพร้อมใจ(Consent)นั้น ภาพยนตร์สารคดีของไมเคิล มัวร์(Michael Moore) เรื่อง Fahrenheit 9/11 ได้ทำหน้าที่อย่างดีในการให้อรรถาธิบายเกี่ยวกับ ความไร้ประสิทธิภาพในการรับมือต่อสถานการณ์ภายหลังการก่อนวินาศกรรม และการสร้างสภาวะให้เกิดความรู้สึกร่วม (Common Sense) ถึงความรุนแรงของกลุ่มก่อการร้ายแม้ในสภาวะปกติว่า “มีความสุ่มเสี่ยง”ต่อการเกิดเหตุการณ์รุนแรง  ผ่านการปรับระดับความรุนแรงของสถานการณ์จากในระดับรุนแรงจากสูง-ปานกลาง-ต่ำ ขึ้นลงอยู่บ่อยครั้ง  ส่งผลให้ชาวอเมริกันรู้สึกขาดความมั่นคงเพราะถูกทำให้รู้สึกว่าสังคมหรือรัฐ ขณะนั้นปราศจากความมั่นคงปลอดภัย( Insecurity State) และความรู้สึกร่วมดังกล่าวนี้เองทำให้ชาวอเมริกันยอมสูญเสีย “เสรีภาพ” และ “พื้นที่ส่วนตัว”ซึ่งครั้งหนึ่งพวกเขาเคยเชิดชูว่าเป็นจุดเด่นของความเป็น อเมริกัน
การยินยอมของประชาชนโดยไม่ขัดขืน/เชื้อเชิญให้รัฐบาลเข้ารุกล้ำพื้นที่ส่วน ตัว เพื่อความมั่นคงปลอดภัย อาทิ การยอมให้มีการดังฟังโทรศัพท์ การตรวจค้นอย่างเข้มงวดบริเวณสนามบิน หรือการเลือกปฏิบัติต่อคนอาหรับหรือชาวอเมริกันเชื้อสายอาหรับ  มาตรการเหล่านี้ของรัฐบาลบุช อาจสะท้อนให้เห็นว่าในช่วงหลังเหตุการณ์ 9/11 รัฐบาลบุช “ประสบความสำเร็จ” ในการสร้างความยินยอมพร้อมใจในประเทศของตน พร้อมทั้งมีแรงสนับสนุนที่เพียงพอจากมติมหาชน อันเป็นผลผลิตจากการสร้างความรู้สึกร่วมในการจัดการกับกลุ่ม “ผู้ก่อการร้าย”ที่พรากชีวิตชาวอเมริกันจากเหตุการณ์ก่อวินาศกรรม ส่งผลให้บุชสามารถนำพาประเทศเข้าสู่สงครามในอัฟกานิสถานได้ในที่สุด

เมื่อมองถึงสิ่งที่ กรัมชี่เรียกว่า “ประชาสังคม”(Civil Society) ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความยินยอมพร้อมใจเพื่อครอบงำทางความคิดและ อุดมการณ์ทางสังคมผ่านสถาบันต่างๆ อาทิ สถาบันครอบครัว ศาสนา สื่อสารมวลชน เป็นต้น สหรัฐเองพยายามสร้างชุดความเชื่อ/ชุดอุดมการณ์ว่าด้วยการเชิดชูประชาธิปไตย และความยิ่งใหญ่ของอเมริกันชนผ่าน“ประชาสังคม”นี้เอง
ในขณะเดียวกัน“ประชาสังคม”ของสหรัฐอเมริกาก็ได้สร้างความรู้สึกเกลียดชังต่อ รัฐบาลตาลีบัน(Taliban Government) และโอซามา บินลาเด็น (Osama bin Laden) ในความรู้สึกนึกคิดของชาวอเมริกันแม้จะไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ ว่า บินลาเด็นมีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อวินาศกรรมในครั้งนี้

ตัวอย่างประชาสังคม ที่ทำหน้าที่ในการสร้างความยินยอมพร้อมใจและความเกลียดชังไปพร้อมๆกันได้แก่ สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น (CNN) โดยภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว CNN ได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของวอร์ชิงตันในผลิตและผลิตซ้ำ (Reproduce) เหตุการณ์ในครั้งนั้นผ่านการ “ฉายภาพ”เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิร์ดเทรดเซ็นเตอร์ซ้ำไปซ้ำมา แก่ชาวอเมริกันและชาวโลก ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าสื่อมวลชนเป็นเครี่องมือสำคัญโดยเป็น “กลไกการครองอำนาจนำ”(Hegemonic Apparatus) ที่เป็นสื่อกลาง[40]ในการถ่ายทอดอุดมการณ์ หรือชุดความคิด ความเชื่อ ของทำเนียบขาวสู่ประชาชนในประเทศ

สื่อมวลชนสหรัฐ มีส่วนสำคัญในการสร้างความยินยอมพร้อมใจ (Spontaneously Consensus) แก่ประชาชนให้คล้อยตามรัฐบาลบุช  อันตามมาซึ่งความชอบธรรมในการปกครอง(Legitimacy)และสามารถควบคุมประชาชนใต้ ปกครอง(Subjects)[41] ให้ไม่สามารถลุกขึ้นต่อต้าน/ทัดทานอำนาจรัฐได้

กล่าวอีกนัยหนึ่ง สหรัฐพยายามทำสงครามเพื่อช่วงชิงพื้นที่ทางความคิด(War on position)ในประเทศช่วงก่อนการบุกอัฟกานิสถาน ในปีค.ศ.2001 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการรุกรานสหรัฐและการได้มาซึ่งความเห็นชอบของมติ มหาชน

อย่างไรก็ตามแต่บุ ชยังไม่สามารถสร้าง “กลุ่มก้อนทางประวัติศาสตร์” (Historical Bloc) ซึ่งถือเป็นการสร้างหรือแปรสภาพความคิด ความเห็นของกลุ่มต่างๆในสังคมไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ให้ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างเอกภาพหรือสร้างสภาวะที่เรียกว่าการครอบงำโดยสมบูรณ์/เบ็ดเสร็จ เด็ดขาด(Absolute Domination)ได้สำเร็จ พิจารณาได้จากกระแสต่อต้านการดำเนินนโยบายชิงโจมตีก่อน(Preemption)    มิใช่เพียงแต่จากฝ่ายเดโมแครต(Democrat)ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น แต่รวมถึงฝ่ายรีพับลิกัน(Republican)และประชาชนที่สนับสนุนรีพับลิกันเองที่ เริ่มมีปฏิกริยาไม่เห็นด้วยกับแนวทางตามลัทธิบุช(Bush Doctrine)โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มครอบครัวของทหารที่ถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจ และประจำการในอัฟกานิสถานและอิรักกล่าวคือรัฐบาลไม่สามารถที่จะสร้างความ เป็นเอกภาพระหว่างกลุ่มต่างๆภายในประเทศได้สำเร็จนั่นเอง

หากย้อนมองถึงการ สร้างความยินยอมพร้อมใจในพื้นที่ระหว่างประเทศ(International Realm)อาจพิจารณาได้ว่าคำกล่าวของบุช ที่ส่งสัญญาณไปยังชาติพันธมิตรของสหรัฐและชาติที่ยัง “เป็นกลาง” ให้ตัดสินใจเลือกข้าง หรือแสดงท่าทีตอบสนองต่อนโยบายของสหรัฐ เป็นความพยายามสร้างความยินยอมพร้อมใจและสร้าง“กลุ่มก้อนทางประวัติ ศาสตร์”ในระดับระหว่างประเทศ
ซึ่งค็อกซ์ชี้ว่า[42]การ สร้างกลุ่มก้อนทางประวัติศาสตร์ในระดับระหว่างประเทศ พัฒนาจากกลุ่มประวัติศาสตร์ในระดับการเมืองภายในก่อนจะขยายเข้ากับกลุ่ม ต่างๆที่มีพลังเหนือรัฐจนพัฒนาเป็นกลุ่มประวัติศาสตร์ใหม่ๆ เช่น องค์การระหว่างประเทศนั่นเองในที่นี้กลุ่มก้อนทางประวัติศาสตร์  ในกรณีของสหรัฐอเมริกาที่เห็นได้ชัดคือ การร่วมือกับพันธมิตรของตน อาทิ กลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิกนาโต้(NATO) หรือกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป(European Union :EU) ตลอดจนประเทศที่เป็นพันธมิตร(Alliance)กับสหรัฐอย่างญี่ปุ่น หรือแม้แต่กระทั่งไทย แต่สหรัฐยังไม่สามารถสร้างกลุ่มประวัติศาตร์ผ่านองค์กรระหว่างประเทศอย่างสห ประชาชาติ(United Nations : UN)ได้สำเร็จ

เมื่อสหรัฐภายใต้รัฐ บาลบุชตัดสินใจใช้อำนาจเชิงบังคับ(Coercion) หรือการทำสงครามขับเคลื่อน(War on movement) ต่อรัฐบาลตาลีบันในอัฟกานิสถานและโค่นล้มระบอบซัดดัมในอิรัก  แม้ว่าสหรัฐจะได้รับชัยชนะสงครามกล่าวคือสามารถล้มและเปลี่ยนแปลงระบบ ให้เป็น “ประชาธิปไตย”อย่างที่สหรัฐต้องการ   แต่สหรัฐหลงลืมว่า “ทุกสิ่งมีราคาที่ต้องจ่าย “(Everything has a price to pay) และ “ราคา”ที่สหรัฐต้องจ่ายในครั้งนี้ก็คือความเกลียดชังจากประเทศต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐไม่สามารถตรวจพบอาวุธทำลายล้างสูงหรือ นิวเคลียร์ในอิรัก ทั้งๆที่เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่สหรัฐใช้  “กล่าวอ้าง”ในการสร้างธรรมยุทธ์(Just War)ในการรุกรานอิรัก

สหรัฐยังมีความพยายาม ในการครองอำนาจนำผ่านการสร้างกลไกอำนาจรัฐ(State Apparatus) เพื่อครองอำนาจนำในอิรักและอัฟกานิสาน ผ่านการตั้งบุคคลที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลสหรัฐและประธานาธิบดีบุช เช่น นาย ฮาร์มิด กาไซ (Hamid Karzai) โดยเขาเคยทำงานในบริษัทน้ำมัน Unocal ซึ่งต้องการลงทุนในการสร้างท่อส่งแก๊ซและน้ำมันจากอัฟกานิสถาน  ผ่านปากีสถาน และสิ้นสุดที่ฝั่งแปซิฟิก[43] แต่ไม่สามารถกระทำได้เพราะมีรัฐบาลตาลีบันและ “กลุ่มผู้ก่อการร้าย”เป็นอุปสรรคที่สำคัญ

อาจกล่าวได้ว่าความ ต้องการน้ำมันในดินแดนตะวันออกกลางเป็น “หลักหมุด”สำคัญในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกามาช้านานแล้ว พิจารณาได้จากคำกล่าวของ ลอว์เรนซ์ โคธ (Lawrence Koth) อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งกล่าวเกี่ยวกับจุดประสงค์ในการเข้าช่วยเหลือคูเวตในสงครามอ่าวเปอร์เซีย (Gulf War)ในปี ค.ศ.1991 ไว้อย่างชัดเจนว่า  “If Kuwait grew carrots, we wouldn’t give a damn[44]
สหรัฐอเมริกาแสดงบทบาทสำคัญในภูมิภาคต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินแดนตะวัน ออกกลางซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วย “แหล่งน้ำมัน”  โดยพยายามหาข้ออ้างเพื่อเข้าไปตักตวงผลประโยชน์ อันตามซึ่งคำถามว่าสหรัฐอเมริกาทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายเพื่อสร้างความ ชอบธรรม/ธรรมยุทธ์(Just War) โดยหวังผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่
นอกจากนี้ความต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและ “วิถีคิด”หรือหากกล่าวในมุมมองของกรัมชี่คือการทำสงครามช่วงชิงพื้นที่ทาง ความคิด(War on position)ของชาวมุสลิมทำให้สหรัฐ เริ่มยึดครองพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าผ่าน การสร้างฐานทัพขนาดใหญ่ในซาอุดิอารเบีย ทำสงครามกับอิรัก และ สนับสนุนให้อิสราเอลยึดครองนครเยรูซาเล็มอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่ง เท่ากับเป็นการท้าทายอำนาจของพระอัลเลาะห์และศรัทธาของชาวมุสลิม ซึ่งเท่ากับว่านอกจากมิติทางเศรษฐกิจแล้ว สหรัฐยังสร้างความขัดแย้งศาสนาอีกประการหนึ่งด้วย

แท้จริงแล้วหากย้อน มองความพยายาม(Attempt)ในการครองอำนาจนำของสหรัฐอเมริกากล่าวคือ สหรัฐอเมริกามีความต้องการในการสร้าง “จักรวรรดิ” เพื่อครอบงำและตักตวงผลประโยชน์จากประเทศต่างๆตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลก ครั้งที่สองเป็นต้นมา ซึ่งสรวิศ ชัยนามชี้ว่า การสร้าง “จักรวรรดิ” นี้“มิ ได้เป็นไปเพื่อป้องกันตัวหรือไร้ซึ่งเจตนา แต่มีความตั้งใจเพื่อเข้าไปจัดวางโครงสร้างเศรษฐศาสตร์การเมืองโลกใหม่ เพื่อให้โลกเป็นสถานที่ซึ่งมีความปลอดภัยต่อผลประโยชน์ของสหรัฐ”[45]
ซึ่งอำนาจทางการเมืองแบบจักรวรรดิของสหรัฐอเมริกาปรากฏให้เห็นตั้งแต่ช่วง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา และมีลักษณะเป็นสิ่งที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด (Totality) หรือไร้เทียมทานโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นซึ่ง ช่วยส่งเสริมทำให้ “อภิมหาเรื่องเล่า” (Metanarratives) เกี่ยวกับคุณงามความดีของ ประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน อัตลักษณ์แบบอเมริกัน การปฏิบัติตนในฐานะของการเป็นตำรวจโลก(World Policeman) ตลอดจนการทำให้เป็นอเมริกัน (Americanization) ซึ่งกลายเป็นรูปแบบที่มีความเป็นสากล (Universalism) และได้รับการยอมรับแม้ในประเทศที่มีความยึดมั่นในวัฒนธรรมของตนเอง เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เป็นต้น
อย่างไรตามแต่ผลจากการใช้อำนาจบังคับ (Coercion) หรือการทำสงคราม เพื่อจัดการกับขบวนการก่อการร้ายและระบอบการปกครองอันไม่พึงประสงค์  แม้สหรัฐที่มีความพร้อมทั้งกำลังทางทหาร  ทางเศรษฐกิจและแรงสนับสนุนจากชาติพันธมิตร ตลอดจนสามารถเข้าครอบครองพื้นที่ทางการเมืองได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว แต่สหรัฐก็ไม่สามารถที่จะครอบงำพื้นที่ทางความคิดหรือสร้างความยินยอมพร้อม ในเวทีระหว่างประเทศได้สำเร็จ หรืออาจกล่าวได้ว่าสหรัฐล้มเหลวในการสร้างการครองอำนาจนำนั่นเอง
ยิ่งไปกว่านั้นการ การตัดสินใจการใช้อำนาจทางการทหารของสหรัฐในการบุกอัฟกานิสถานและอิรักยัง ทำลายโครงสร้างส่วนบน(Social Structure) หรืออิทธิพลและอำนาจทางวัฒนธรรมตลอดจนการยอมรับจากชาติต่างๆที่สั่งสมมาตลอด หลายปีของสหรัฐลงภายในระยะเวลาเพียงสองปี หรืออาจกล่าวได้ว่าสหรัฐกำลังเผชิญกับสภาวะการต่อต้านการครองอำนาจ นำ(Counter Hegemony) นั่นเอง [46]
ปฏิกริยาการต่อต้านการครองอำนาจนำเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลกโดยเฉพาะ อย่างยิ่งจากกลุ่มประเทศในโลกอาหรับ ซึ่งมีแกนนำสำคัญคือประธานาธิบดีมาห์มูด อาห์มาดิเนจาด (Mahmoud Ahmadinejad) ผู้นำของอิหร่านซึ่งแสดงท่าทีแข็งกร้าวและเป็นศัตรูกับสหรัฐอเมริกาอย่าง เปิดเผย หรือแม้กระทั่งในประเทศสหรัฐอเมริกาเองที่ความนิยมในตัวประธานาธิบดีบุชตก ต่ำอย่างสุดขีดจนถึงขั้นที่ประชาชนเบื่อหน่ายพรรครีพับลิกันและเทคะแนนเสียง ให้กับผู้นำพรรคเดโมแครทคนใหม่อย่างบารัก โอบามา ซึ่งเหมือนเป็นความหวังของสหรัฐอเมริกาและชาวโลกที่ผิดหวังกับ การบริหารราชการและ“การจัดระเบียบโลก”(World Order) ที่กลับสร้างให้โลกมีสภาวะ “ไร้ระเบียบ” (World Disorder)มากยิ่งขึ้น

สภาวะของโลกยุคของการเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช สู่ ประธานาธิบดีผิวสีคนแรกแห่งสหรัฐอเมริกาที่มาพร้อมกับแคมเปญน์รณรงค์หาเสียง ด้วยคำว่า  Change อันประสบความสำเร็จและถือได้ว่าการได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีของโอบามา นั้นเป็นการเข้ามาลดความตึงเครียด /เปลี่ยนบรรยากาศของการเมืองระหว่างประเทศที่เคยคุกรุ่นก่อนหน้านี้ให้สงบลง เพราะรัฐบาลบุชทั้งสองสมัย ได้สร้างความแตกแยกและกระแสเกลียดชังอเมริกันไปทั่วทั้งโลกจากการเปิดฉากโจม ตีทั้งอัฟกานิสถานและอิรักด้วยนโยบายชิงโจมตีก่อน (Pre-emptive  Diplomacy)[47] หรือแม้แต่กระทั่งคำพูดของบุชที่กล่าวว่าการรบของทหารอเมริกันครั้งนี้จะเปรียบเสมือนกับการทำสงครามครูเสดครั้งใหม่[48] ซึ่งมีส่วนสำคัญอันก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่ประเทศโลกมุสลิมเป็นอย่างมาก

การก้าวเข้ามาพร้อมกับความหวังในตัวโอบามาที่เข้ามาเปลี่ยนท่าที่อันแข็ง กร้าวของนโยบายต่างประเทศ รวมทั้งประเด็นด้านการทหารของสหรัฐอเมริกาจากสายเหยี่ยวสู่สายพิราบ  อย่างไรก็ตามแต่ โอบามาต้องเข้ามาบริหารประเทศและ “โลก” ท่ามกลางปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเรื่องระบบประกันสุขภาพ  ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งตามมาด้วยอัตราการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้ง ที่สอง[49] และปัญหาซึ่งเป็นประเด็นระหว่างประเทศ อาทิไข้หวัด 2009  วิกฤตนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือและอิหร่าน  ปัญหาการก่อการร้าย ปัญหาโลกร้อน และปัญหาที่เรื้อรังที่สืบทอดจากรัฐบาลบุชนั่นคือปัญหาการถอนกำลังทหารออก จากอิรักและอัฟกานิสถาน ซึ่งยังคงมีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นระยะ[50]

กล่าวโดยสรุปแล้วสงครามในอัฟกานิสถานและอิรักจึงเป็น “สงครามราคาแพง”อีกครั้งของสหรัฐอเมริกาถัดจากสงครามเวียดนามที่สิ้นสุดลงใน ปีค.ศ. 1975   โดยสงครามเวียดนามหลายคนอาจกล่าวว่าสหรัฐแพ้สงครามในบ้าน กล่าวคือแพ้ต่อมติมหาชนของชาวอเมริกันที่ไม่เห็นด้วยต่อการทำสงครามใน เวียดนาม แต่ในกรณีสงครามในอัฟกานิสถานและอิรักผู้เขียนมองว่าสหรัฐแพ้สงครามทั้งใน บ้านและ นอกบ้าน

ยิ่งไปกว่านั้นสงครามในครั้งนี้ยังเป็นสงครามที่ยังไม่สิ้นสุด แม้จะมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจภายในอัฟกานิสถานและอิรักแล้ว แต่ความเกลียดชังของผู้คนชาวอาหรับยังคงฝังลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชาวมุสลิมผู้เคร่งศาสนา(Islamic Fundamentalists) [51] ซึ่งเป็นพลังสำคัญอย่างยิ่งต่อสู้กับสหรัฐอเมริกาในอนาคตสืบต่อไป

อย่างไรก็ตามแต่ แม้จะมีกระแสต่อต้านความเป็นอเมริกัน(Anti-American) แต่สหรัฐอเมริกายังคงมีอำนาจทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และ วัฒนธรรม ที่หยั่งรากลึกและแทรกซึมในวิถีคิดของประเทศต่างๆทั่วโลก จึงอาจพิจารณาได้ว่าในระยะสั้น(Short Term)สหรัฐน่าจะยังคงรักษาความเป็นมหาอำนาจของตนได้อยู่ในระดับหนึ่ง

แต่หากพิจารณาในระยะยาวแล้วหากสหรัฐอเมริกายังคงใช้รูปแบบของการใช้อำนาจ บังคับ(Coercion) ต่อไปในระยะยาว สหรัฐอเมริกาคงไม่สามารถฟื้นคืนภาพลักษณ์(Image) และกลับมาชาติเป็นมหาอำนาจของโลกในปัจจุบัน ซึ่งมีกลุ่มประเทศอย่าง เยอรมัน จีน รัสเซีย จีน บราซิล หรือกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่มีศักยภาพทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองใกล้ เคียง/ทัดเทียมกับสหรัฐ
สุดท้ายแล้วหากมองผ่านกรอบความคิดแบบกรัมชี่ ซึ่งมองการครองอำนาจนำ(Hegemony)ว่าคือคือการสร้างอำนาจของผู้ปกครองผ่านทาง การสร้างความยินยอมพร้อมใจ (Consent) โดยทำการผลิต (Produce) และผลิตซ้ำ (Re-produce) คุณค่าตลอดจนค่านิยมต่างๆในสังคมเพื่อสร้างความชอบธรรมในการ ปกครอง(Legitimacy)และควบคุมผู้ใต้ปกครอง(Subjects)[52] ให้ไม่สามารถต่อต้านอำนาจของผู้ปกครองได้ และหากผู้ปกครองไม่สามารถครองอำนาจนำไม่สำเร็จก็จะเกิดการต่อต้านการครองอำนาจนำ
(Counter-hegemony)ในพื้นที่ประชาสังคมผ่านการสร้างกลุ่มประวัติ ศาสตร์(Historical Bloc)  ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคม และยึดอำนาจกลับคืนจากชนชั้นปกครองได้

ทั้งนี้อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าสหรัฐอเมริกามีความพยายามครอบครองอำนาจนำ ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ตลอดจนพยายามที่รักษาสถานะ/เพิ่มพูนให้เท่ากับยุคสันติภาพอเมริกา(Pax Americana) ซึ่งเป็นยุคที่สหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทาง การเมือง ประกอบกับสหรัฐยังเป็นประเทศที่ชาติต่างๆให้การยอมรับ และยอมอยู่ใต้ “ร่มเงา” ตลอดจนยังเป็นผู้เผยแพร่ระบบคิด และวัฒนธรรมแบบอเมริกันโดยเป็นสิ่งที่แทรกเข้าไปในระดับสามัญสำนึก(Common Sense)ของประชากรโลก ซึ่งถือเป็นการครองอำนาจนำที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเพราะสามารถครอบครอง ผู้ใต้ปกครองได้โดยที่ผู้ใต้ปกครอง “ไม่รู้สึก”ถึงการถูกควบคุมโดยผู้ปกครองเลยแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามแต่ความยิ่งใหญ่ของสหรัฐต้องเสื่อมคลายลง โดยเฉพาะอย่างภายหลังการตัดสินใจทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย(War on terror)และรุกรานอัฟกานิสถานและอิรัก ทำให้ภาพของชาติที่เป็น “ตำรวจโลก” ที่ยืนหยัดอยู่บนอุดมการณ์ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยนชน กลายเป็น “กลุ่มผู้ก่อการร้าย” เสียเองในสายตาของหลายๆชาติและนั่นคือปฏิกริยาของการต่อต้านการครองอำนาจ นำ(Counter Hegemony)ที่สั่นคลอนความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน

และเมื่อย้อนกลับไปอ่านคำพูดของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอสในตอนต้นก็น่าคิดว่าตอนนี้สหรัฐอเมริกาได้ใช้  “กระสุนปืนหนึ่งพันนัด” ของตนไปหมดแล้วหรือยัง ? และคำถามที่สำคัญกว่านั้นคือถ้าสหรัฐอเมริกาใช้ “กระสุน” จนหมดสิ้นเสียทุกนัดแล้ว จะใช้อาวุธ/อำนาจชนิดใดเพื่อรักษาระบบและครองอำนาจนำต่อไปในอนาคต


 

เชิงอรรถ

[1] วัชรพล พุทธรักษา.2552.นีโอกรัมเชี่ยน (Neo-Gramscianism):ข้อควรพิจารณาในฐานะทฤษฏีการเมืองระหว่างประเทศ.วารสาร วิภาษา.ปีที่3 ฉบับที่7, 71-78.

[2] คำว่า discourse เป็นคำเก่าในภาษาฝรั่งเศส ที่มีรากมาจากภาษาละตินว่า discursas ใช้กันตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 หมายถึงการสนทนาตอบโต้  โดยสมเกียรติ วันทะนะ ได้แปลคำว่า discourse เป็นภาษาไทยว่าวาทกรรม ซึ่งคือกรอบความคิดเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีลักษณะเป็นสถาบันสืบ ทอดกันมาแสดงออกผ่านการพูดและการเขียนอย่างต่อเนื่องเพื่อคงไว้ซึ่งลักษณะ ของวาทกรรมนั้นๆ
สุภางค์ จันทวานิช.2552.ทฤษฎีสังคมวิทยา.พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[3] สารคดี.วันนี้ในอดีต: 11 กันยายน  Retrieved on Sep.19,2010  from
http://www.sarakadee.com/web/modules.php ?name=News&file=article&sid=2373

[4] อ้างแล้ว

[5] Every nation in every region now has a decision to make. Either you are with us, or you are with the terrorists

[6] กองทัพเรือ.สงครามอิรัก-วิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์. Retrieved on Sep.20,2010  from  http://www.navy.mi.th/ians/document/misc/nvipdoc1.html
สหรัฐได้เพิ่มประเทศในกลุ่มอักษะแห่งความชั่วร้าย(Axis of Evil) จากแต่เดิมที่ประกอบด้วย อิรัก อิหร่าน เกาหลี  อีกสามประเทศได้แก่ ลิเบีย คิวบา และซีเรีย ดูเพิ่มเติมใน จุฑาทิพ.2551.หลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน้า145

[7] คณะมนตรีนี้ประกอบด้วยสมาชิกถาวร (Permanent members) 5 ประเทศ คือ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา และสมาชิกไม่ถาวร (Non-permanent members) อีก 10 ประเทศ
ขจิต จิตตเสวี.2552.องค์การระหว่างประเทศ. พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพฯ : วิญญูชน

[8] กองทัพเรือ.สงครามอิรัก-วิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์. Retrieved on Sep.20,2010  from  http://www.navy.mi.th/ians/document/misc/nvipdoc1.html

[9] ต่อมาภายหลัง ซัดดัม ฮุสเซน ถูกจับภายในหลุมหลบภัยห่างจากเมือง ติกริบ้านเกิดของเป็นระยะทาง 15 กิโลเมตร ก่อนที่จะถูกตัดสินประหารชีวิตโดนการแขวนคอที่ประเทศอิรัก เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ.2003 ดูเพิ่มเติมที่ http://news.bbc.co.uk/2/hi/6218485.stm , Retrieved on Sep.29,2010

[10] แม้จะยังไม่มีคำนิยามที่แน่ชัดของการก่อการร้าย แต่ก็สามารถสรุปหลักการสำคัญของการก่อการร้ายว่าเป็นการกระทำอันมีเป้าหมาย เพื่อสร้างความหวาดกลัว และความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยให้กับคนในรัฐ
ชัยวัฒน์ สถาอนันต์.2545.จักรวรรดินิยมกับการก่อการร้าย. ศิโรตน์ คล้ามไพบูลย์(บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : สถาบันวิถีทรรศน์ มูลนิธิวิถีทรรศน์

[11] ชัยวัฒน์ สถาอนันต์.2545.จักรวรรดินิยมกับการก่อการร้าย. ศิโรตน์ คล้ามไพบูลย์(บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : สถาบันวิถีทรรศน์ มูลนิธิวิถีทรรศน์ หน้า 12

[12] เพิ่งอ้าง หน้า 13

[13] ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร.2549.รัฐ-ชาติกับ (ความไร้) ระเบียบโลกชุดใหม่.กรุงเทพฯ : วิภาษา หน้า 3

[14] เพิ่งอ้าง หน้า 99

[15] ยุค ศรีอาริยะ.2545.จักรวรรดินิยมกับการก่อการร้าย. ศิโรตน์ คล้ามไพบูลย์(บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : สถาบันวิถีทรรศน์ มูลนิธิวิถีทรรศน์

[16] ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร.2549.รัฐ-ชาติกับ (ความไร้) ระเบียบโลกชุดใหม่.กรุงเทพฯ : วิภาษา หน้า 93

[17] จุฑาทิพ.2551.หลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน้า145

[18] Charles W Kegley.2004. World Politics : trend and transformation.Australia : Thomson/Wadsworth.pp.128

[19] Every nation in every region now has a decision to make. Either you are with us, or you are with the terrorists

[20] ไชยันต์ ไชยพร.2551.Pre modern.กรุงเทพ : Way of book หน้า 125
การมองแบบคู่ตรงข้ามนั้นเป็นการมองที่กดทับคุณค่าของสิ่งอื่นที่ตรงข้ามกับ ตน และเสนอคำตอบเกี่ยวกับสิ่งที่ดีที่ถูกต้องที่สุดของตัวเองเพียงคำตอบเดียว เท่านั้น โดยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาไว้ซึ่งความต่างนั้น มิฉะนั้นแล้วจะไม่สามารถสร้างเอกลักษณ์ให้กับคุณค่าที่ดีกว่า/สูงกว่าของผู้ กล่าวอ้างได้ เช่น หากปราศจากความอ้วน ก็ไม่สามารถที่จะระบุ(define) รูปแบบของความผอมได้

[21] ซึ่งหากเป็นการตีความตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด แม้จะมีการเรียกชื่อกองกำลังดังกล่าวอย่างไรก็ถือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 9 ดูเพิ่มเติมใน ไชยวัฒน์ ค้ำชู.2551.นโยบายต่างประเทศญี่ปุ่น :ความเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่อง.กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย หน้า 437

[22] ยุค ศรีอาริยะ.2545.จักรวรรดินิยมกับการก่อการร้าย. ศิโรตน์ คล้ามไพบูลย์(บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : สถาบันวิถีทรรศน์ มูลนิธิวิถีทรรศน์

[23] หลังการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญีปุ่นภายใต้นายกรัฐมนตรี โยชิดะ ชิเงรุ ดำเนินนโนบายต่างประเทศโดยยึดแนวคิดลัทธิโยชิดะ(Yoshida Doctrine) ซึ่งเน้นให้ความสำคัญทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ดูแลด้านความมั่นคงของประเทศให้ ญี่ปุ่น

[24] ไชยวัฒน์ ค้ำชู.2551.นโยบายต่างประเทศญี่ปุ่น :ความเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่อง.กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย หน้า 355

[25] วัตถุประสงค์เริ่มแรกก่อตั้งนาโต้คือ เพื่อจัดตั้งระบบพันธมิตรทางทหารในการถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ (สหภาพโซเวียต) และให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในกรณีที่ประเทศสมาชิกถูกคุกคามจากภายนอก ตลอดจนส่งเสริมความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ

ขจิต จิตตเสวี.2552.องค์การระหว่างประเทศ. พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพฯ : วิญญูชน

[26] ยุค ศรีอาริยะ.2545.จักรวรรดินิยมกับการก่อการร้าย. ศิโรตน์ คล้ามไพบูลย์(บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : สถาบันวิถีทรรศน์ มูลนิธิวิถีทรรศน์ หน้า 17

[27] Pantip.ไทยส่งทหาร886นายไปอิรัก. Retrieved on Oct.9,2010, from http://topicstock.pantip.com/rajdumnern/topicstock/P2402122/P2402122.html

[28] อ้างแล้ว

[29] วัชรพล พุทธรักษา.2552.นีโอกรัมเชี่ยน (Neo-Gramscianism):ข้อควรพิจารณาในฐานะทฤษฏีการเมืองระหว่างประเทศ.วารสาร วิภาษา.ปีที่3 ฉบับที่7, 71-78.

[30] เรื่องเดียวกัน

[31] Professor of Political Science, Communications and Culture at York University, Toronto, Canada.

[32] Professor of Political Science at York University, Toronto, Canada from 1977 to 1992.

[33]..วัชร พล พุทธรักษา.แนวความคิดการครองอำนาจนำของกรัมชี: บททดลองเสนอในการอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทย. Retrieved on July.21,2010, from http://www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999447.html

[34] วัชรพล พุทธรักษา.2552.นีโอกรัมเชี่ยน (Neo-Gramscianism):ข้อควรพิจารณาในฐานะทฤษฏีการเมืองระหว่างประเทศ.วารสาร วิภาษา.ปีที่3 ฉบับที่7, 71-78.

[35] วัชรพล พุทธรักษา.แนวความคิดการครองอำนาจนำและกลุ่มประวัติศาสตร์.
Retrieved on Oct. 2,2010, from http://www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999447.html.

[36] ความหมายของคำว่าประชาสังคมของกรัมชี่นั้นแตกต่างจากความหมายตามความเข้าใจทั่วไป ว่าเป็นการเมืองภาคประชาชน ซึ่ง ราชบัณฑิตสถาน ได้ให้ความหมายของประชาสังคมว่าคือ ขบวนการทางสังคม หรือหมายถึงความเป็นพลเมืองในแง่ที่เป็นพลวัตของความเป็นประชาชนที่เกี่ยว ข้องกับกระบวนการพิจารณา ตรวจสอบ ทบทวน และกำหนดนิยามใหม่ของสิทธิและหน้าที่ของประชาชน  แต่ อาจารย์ วัชรพล พุทธรักษาชี้ ว่าความหมายของประชาสังคมแบบกรัมชี่ เป็นโครงสร้างของระบบ ความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ กฎหมาย วัฒนธรรม และอื่นๆ ที่ไม่ใช่โครงสร้างทางเศรษฐกิจ  เรื่องเดียวกัน

[37] สุภางค์ จันทวานิช.2552.ทฤษฎีสังคมวิทยา.พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,หน้า 188

[38] ใจ อึ๊งภากรณ์และคณะ.2545.อะไรนะลัทธิมาร์คซ์ เล่ม2.กรุงเทพฯ:ชมรมหนังสือประชาธิปไตยแรงงาน,หน้า 218

[39] ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การทำสงครามยึดพื้นที่ทางความคิด ( War of Position) และ การทำสงครามขับเคลื่อน( War of movement) ได้ที่  http://www.midnightuniv.org/midnighttext/0009999813.html

[40] วัชรพล พุทธรักษา.แนวความคิดการครองอำนาจนำและกลุ่มประวัติศาสตร์.
Retrieved on Sep.30,2010, from http://www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999447.html.

[41] Goldstein, Joshua S.2005.International relations.New York : Pearson Longman

[42] วัชรพล พุทธรักษา.2552.นีโอกรัมเชี่ยน (Neo-Gramscianism):ข้อควรพิจารณาในฐานะทฤษฏีการเมืองระหว่างประเทศ.วารสาร วิภาษา.ปีที่3 ฉบับที่8, 67-76.

[43] ยุค ศรีอาริยะ.2545.จักรวรรดินิยมกับการก่อการร้าย. ศิโรตน์ คล้ามไพบูลย์(บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : สถาบันวิถีทรรศน์ มูลนิธิวิถีทรรศน์ หน้า 17

[44] The Guardians Saddam: serpent in the Garden of Eden.Retrieved on Oct. 10,2010, from http://www.guardian.co.uk/world/2001/jan/12/iraq.worlddispatch

[45] สรวิศ ชัยนาม.2552.จักรวรรดิอเมริกา : ประวัติศาสตร์แบบทวนกระแส อัตลักษณ์ ชีวอำนาจ.กรุงเทพฯ : ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  หน้า 161

[46] ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพพจน์ที่ตกต่ำลงของสหรัฐอเมริกาจาก  America’s Image in the World: Findings from the Pew Global Attitudes Project ได้ที่ http://pewglobal.org/2007/03/14/americas-image-in-the-world-findings-from-the-pew-global-attitudes-project/

[47] จุฑาทิพ คล้ายทับทิม.2551.หลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน้า 145

[48]This crusade, this war on terrorism is gonna take awhile. And the American people must be patient. I’m gonna be patient,”  from a press conference upon arrival at the South Lawn of the White House, September 16, 2001 ดูเพิ่มเติมที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Tenth_Crusade

[49] Bloomberg. “U.S. Joblessness May Reach 13 Percent, Rosenberg Says”,
Retrieved on Oct. 10 2010 from http://www.bloomberg.com/apps/news?pid=20601103&sid=as0drZ9lcOhY

[50] ปัจจุบันมีทหารสหรัฐและทหารพันธมิตรนาโต้ใน อัฟกานิสถานกว่า 140,000 นาย ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มทำสงครามเมื่อปี 2001 เป็นเวลา 9 ปี มีทหารของกองกำลังต่างชาติเสียชีวิตกว่า 2,000 นาย เฉพาะปีนี้มีทหารสหรัฐเสียชีวิตแล้ว 323 นาย นับเป็นยอดผู้เสียชีวิตที่สูงที่สุดจากยอดทหารสหรัฐที่เสียชีวิตทั้งหมด 1,270 นาย ตั้งแต่เริ่มทำสงครามที่นั่นหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน ปี 2001  โดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐ ยืนยันคำมั่นเรื่องการถอนกองกำลังสหรัฐออกจากอัฟกานิสถาน และคืนอำนาจการดูแลความมั่นคงให้กับกองทัพอัฟกานิสถานในปี 2011
Dailyworldtoday.‘โอบามา’ปรับแผนอัฟกาฯ.Retrieved on Oct. 10,2010, from http://www.dailyworldtoday.com/columblank.php?colum_id=43087

[51] ผู้เขียนมองว่า ชาวมุสลิมผู้เคร่งศาสนา(Islamic Fundamentalists) หากพิจารณากับแนวคิดของกรัมชี่ เรื่องปัญญาชนที่มีส่วนสำคัญในการโค่นล้มอำนาจของชนชั้นนายทุน/ผู้ปกครอง ก็มีลักษณะใกล้เคียงกับปัญญาชนจัดตั้ง (organic interectuals) ซึ่งกรัมชี่มองว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนสังคมหรือท้าทายอำนาจรัฐ ในที่นี้คือท้าทายความยิ่งของสหรัฐอเมริกานั่นเอง

[52] Goldstein, Joshua S.2005.International relations.New York : Pearson Longman