Category: ระหว่างประเทศ

จีนและสหรัฐฯกับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อันปราศจากความไว้เนื้อเชื่อใจ

จีนและสหรัฐฯกับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อันปราศจากความไว้เนื้อเชื่อใจ *

 ฑภิพร สุพร

003

เป็นที่ประจักษ์ว่ายุทธศาสตร์การถ่วงดุลครั้งใหม่ (Rebalancing) ในสมัยประธานาธิบดี Barack Obama ประสบความล้มเหลวในการสร้างความเชื่อใจระหว่างสหรัฐฯจีน ตลอดจนทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจทางยุทธศาสตร์ (Strategic Confidence) ระหว่างทั้งสองประเทศ อาจพิจารณาต่อไปได้ว่าการขาดความไว้วางใจระหว่างกันถือเป็นอุปสรรคประการสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯและจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงยามที่มหาอำนาจทั้งสองอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านอำนาจของผู้นำของทั้งสองประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากบทเรียนทางประวัติศาสตร์ การสร้างความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างชาติมหาอำนาจโดยปราศจากซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันก็อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ดังพิจารณาได้จากความพยายามของอังกฤษและสหภาพโซเวียตซึ่งมุ่งหมายที่จะต่อสู้กับนาซีเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่2 หรือกรณีการสร้างความร่วมมือระหว่างจีนและสหรัฐฯในสมัยประธานาธิบดี Richard Nixon และ Mao Zedong ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ซึ่งตัดสินใจสร้างความร่วมมือระหว่างโดยที่ทั้ง Nixon และ Mao ต่างมิได้ไว้ใจซึ่งกันและกัน ในกรณีของสหรัฐฯ การสร้างความร่วมมือทางยุทธศาสตร์กับรัฐมหาอำนาจมักอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อใจมากกว่าผลประโยชน์ที่สหรัฐฯมีร่วมกับชาติอื่น ยกเว้นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและสหราชอาณาจักรซึ่งมีลักษณะตรงกันข้าม ดังนั้นอาจพิจารณาได้ว่าแม้ยุทธศาสตร์การถ่วงดุลครั้งใหม่จะบั่นทอนความเชื่อใจระหว่างสหรัฐฯและจีน แต่กระนั้นก็ยังมีความเป็นไปได้ที่มหาอำนาทั้งสองอาจพัฒนาความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันในอนาคต

ในทรรศนะของนักสัจนิยมชาวจีน ยุทธศาสตร์การถ่วงดุลครั้งใหม่ของสหรัฐฯมีที่มาจากปัจจัย 2 ประการได้แก่ ประการแรก สหรัฐฯต้องการรักษาสถานะมหาอำนาจหนึ่งเดียวของสหรัฐฯถูกท้าท้ายโดยการผงาดขึ้นมามีอิทธิพลของจีน และประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงของศูนย์กลางอำนาจจากยุโรปสู่เอเชียตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มว่าจะแซงหน้าเหนือเศรษฐกิจของทวีปยุโรป

แม้จะมีข้อเสนอว่ายุทธศาสตร์การถ่วงดุลครั้งใหม่นั้นมุ่งหมายที่จะควบคุมและจำกัดบทบาทของจีนมิให้มีอิทธิพลในเอเชียตะวันออก แต่นักยุทธศาสตร์กระแสหลักชาวจีนกลับยืนยันว่าการสร้างความไว้เนื้อเชื่อระหว่างกันถือเป็นเงื่อนไชสำคัญในการสร้างความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ตลอดจนแสดงความกังวลว่าการปราศจากความเชื่อใจระหว่างสหรัฐฯและจีนจะบ่อนทำลายความสัมพันธ์ของมหาอำนาจทั้งสองและเพิ่มความเสี่ยงสู่การก่อสงครามระหว่างกันในอนาคต นอกจากนี้ยังปฏิเสธได้ยากว่าการติดต่อสื่อสารถือเป็นช่องทางอันมีประสิทธิภาพในการพัฒนาความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างสหรัฐฯและจีน

อย่างไรก็ตาม การปราศจากซึ่งความไว้เนื้อใจและความหวาดระแวงระหว่างมหาอำนาจทั้งสองจะทำให้ทั้งสหรัฐฯและจีนต่างต้องการหลีกเลี่ยงการปะทะกันทางทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทั้งสองประเทศต่างเป็นรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ด้วยกันทั้งคู่ การสร้างความร่วมมือโดยมีพื้นฐานอยู่บนความไม่เชื่อใจกันจึงอาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือสหรัฐฯและจีนซึ่งมีรูปแบบความสัมพันธ์แบบผิวเผิน (Superficial) และปราศจากความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน แต่จีนและสหรัฐฯต่างก็มีเป้าประสงค์และผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน

หลักการการขับเคี่ยวแข็งขันกันอย่างสันติ (Peaceful Competition) ถือเป็นหลักการที่มีประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯในบริบทปัจจุบันมากกว่าหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (Peaceful Coexistence) โดยหนทางหนึ่งที่ทั้งจีนและสหรัฐฯจะสามารถบรรลุหลักการการขับเคี่ยวแข็งขันกันอย่างสันติได้นั้นอาจต้องกระทำผ่านแนวทางการสร้างความร่วมมือเชิงป้องกัน (Preventive Cooperation)

Yan Xuetong ชี้ว่าคงเป็นการยากที่สหรัฐฯและจีนจะสร้างความเชื่อใจระหว่างกันได้ ดังนั้นทั้งสองประเทศจึงควรให้ความสนใจกับการพัฒนาความร่วมมือเชิงป้องกันระหว่างกัน โดยความร่วมมือดังกล่าวอาจมีพื้นฐานมาจากทั้งความขัดแย้งตลอดจนผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ การพัฒนาความร่วมมือเชิงป้องกันระหว่างกันนั้นมิได้เกิดขึ้นแต่ในเฉพาะมิติทางการทหาร หากแต่ครอบคลุมประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่หรือความมั่นคงไม่ตามแบบ (Nontraditional Security) อาทิ เรื่องความมั่นคงทางพลังงาน ความมั่นคงทางการเงิน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

Yan Xuetong กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่าข้อเรียกร้องที่ให้จีนและสหรัฐฯให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือเชิงป้องกันระหว่างกันไม่ได้หมายความว่าจะให้ทั้งสองประเทศละทิ้งความพยายามในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจหรือพัฒนาผลประโยชน์ที่มีร่วมกัน แต่การสร้างความร่วมมือเชิงป้องกันระหว่างกันจะเป็นช่องทางที่ทำให้ทั้งสหรัฐฯและจีนก้าวเดินสู่การสร้างความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์อันมีเสถียรภาพ

__________________________________________________

* สรุปความจาก Yan Xuetong. “Strategic Cooperation without Mutual Trust: A Path Forward for China and the United States.” Asia Policy 15.1 (2013): 4-6.

ยุทธศาสตร์การถ่วงดุลครั้งใหม่ของสหรัฐฯในทัศนะของญี่ปุ่น

ยุทธศาสตร์การถ่วงดุลครั้งใหม่ของสหรัฐฯในทัศนะของญี่ปุ่น *

ฑภิพร สุพร

0000

Noboru Yamaguchi ชี้ว่าการผลักดันยุทธศาสตร์การถ่วงดุลครั้งใหม่สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งญี่ปุ่นตลอดจนประเทศที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯก็ต้องพยายามที่จะสร้างความร่วมมือและปรับตัวให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ดังกล่าวในกรณีของญี่ปุ่นญี่ปุ่นเสนอแนวคิดเรื่องพลวัตรของกองกำลังป้องกันตนเองซึ่งสนับสนุนให้กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นมีลักษณะยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นเพื่อรับมือกับการรุกรานและเพิ่มความสามารถในการป้องกันตนเองของญี่ปุ่นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เมื่อสหรัฐฯสิ้นภารกิจในตะวันออกกลางและเบนเข็มมาให้ความสนใจกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผ่านการผลักดันยุทธศาสตร์ถ่วงดุลครั้งใหม่ อย่างไรก็ดี การผงาดขึ้นของจีนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่สหรัฐฯและพันธมิตรจะพัฒนายุทธศาสตร์ทางความร่วมมือระหว่างกัน Noboru Yamaguchi ตั้งคำถามสำคัญว่าภายใต้สภาวการณ์ข้างต้นสหรัฐฯและญี่ปุ่นจะมียุทธศาสตร์ทางความมั่นคงระหว่างกันได้อย่างไร

หากพิจารณาจากเอกสาร The Defense Strategic Guidance Document ของสหรัฐฯและ National Defense Program Guidelines (NDPG) ของญี่ปุ่น ทั้งสหรัฐฯและญี่ปุ่นควรจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ข้อเสนอหนึ่งของ NDPG คือแนวคิดใหม่เรื่องพลวัตรของกองกำลังป้องกัน (Dynamic Defense Force) ซึ่งเสนอว่าควรมีการปรับปรุงกองกำลังป้องกันประเทศของญี่ปุ่น (Japan Self- Defense Force: JSDF)ให้มีลักษณะยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นเพื่อรับมือกับการรุกรานและเพิ่มความสามารถในการป้องกันตนเองของญี่ปุ่นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

Noboru Yamaguchi ชี้ว่าหากญี่ปุ่นสามารถเปลี่ยนแปลงท่าทีด้านการปรับปรุงกองกำลังป้องกันประเทศได้อย่างพอประมาณ (Modest) แต่มีความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้เพื่อที่จะป้องกันน่านน้ำและน่านฟ้า ตลอดจนหมู่เกาะบริเวณเอเชียแปซิฟิก นโยบายดังกล่าวจะสอดประสานกับยุทธศาสตร์ anti-access/area-denial (A2/AD) ของสหรัฐฯได้เป็นดังอย่างดี ตัวอย่างที่ปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนคือการตอบโต้แผนการของเกาหลีเหนือที่จะยิงขีปนาวุธพิสัยไกลเหนือเกาะทางตอนใต้ของญี่ปุ่น โดยทั้งกองกำลังป้องกันประเทศของญี่ปุ่นก็ได้เคลื่อนกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อปกป้องพื้นที่บริเวณ Okinawa, Miyako และหมู่เกาะ Ishigaji พร้อมกับได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพสหรัฐฯ

ดังที่พิจารณาในตอนต้นว่าปัจจัยเรื่องการผงาดขึ้นของจีนถือเป็นปัจจัยที่มีส่วนสำคัญยิ่งต่อทิศทางและนโยบายถ่วงดุลครั้งใหม่ของสหรัฐฯ แต่กระนั้นทั้งสหรัฐฯและจีนต่างก็มีผลประโยชน์ร่วมกัน อาทิ กรณีความมั่นคงในโลกไซเบอร์ (Cyber Security) หรือความมั่นคงในอวกาศส่วนนอก (Outer Space) ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯและจีนเลือกที่จะร่วมมือระหว่างกันมากกว่าการโจมตีกันโดยตรง  โดยหากสหรัฐฯตัดสินใจร่วมมือกับจีน บรรดาพันธมิตรของสหรัฐฯ ตลอดจนประเทศต่างๆก็อาจเล็งเห็นประโยชน์และความสำคัญของความร่วมมือและตัดสินใจสร้างความร่วมมือในประเด็นดังกล่าวระหว่างกันต่อไปในอนาคต

ใจความหลักที่สำคัญประการหนึ่งของนโยบายถ่วงดุลครั้งใหม่ในเอเชียแปซิฟิกคือ “การแพร่กระจายอย่าทั่วถึงในทางภูมิศาสตร์  การปฏิบัติการที่มีความยืดหยุ่น และมีความยั่งยืนทางการเมือง” (“Geographically distributed, operationally resilient, and politically sustainable”) โดยการย้ายฐานทัพที่ประจำการอยู่ที่ Okinawa ไปยัง Guam ประกอบกับการเคลื่อนย้ายกองกำลังทหารไปประจำการที่เมือง Darwin ออสเตรเลียจะส่งผลดีต่อกองทัพสหรัฐฯโดยกองทัพสหรัฐฯจะสามารถปฏิบัติครอบคลุมพื้นที่ในเอเชียแปซิฟิกมากกว่าเดิมจากแต่เดิมที่กองทัพสหรัฐฯมักจะประจำการอยู่ทางตอนเหนือของเอเชียแปซิฟิก กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การตัดสินย้ายฐานทัพของสหรัฐฯจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการของกองทัพสหรัฐฯผ่านการขยับขยายพื้นที่ปฏิบัติการให้ครอบคลุมเอเชียแปซิฟิกมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการบรรเทาความเสี่ยงทางการเมืองอันอาจเกิดขึ้นได้จากความไม่พอใจของชาว Okinawan ดังที่สหรัฐฯต้องเผชิญมาในอดีต

______________________________________________

* สรุปความจาก Noboru Yamaguchi. “A Japanese Perspective on U.S. Rebalancing toward the Asia-Pacific Region.” Asia Policy 15.1 (2013): 7-12.

ย้อนพินิจสถานะของอาวุธนิวเคลียร์ในยุคหลังสงครามเย็น: การก้าวข้ามมิติทางความมั่นคงและตัวแสดงในระดับรัฐชาติ

proliferation-race

แม้การสิ้นสุดของสงครามเย็นในต้นทศวรรษที่ 1990 จะถือเป็นจุดสิ้นสุดของการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต แต่ปัญหาการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์กลับยังคงเป็นปัญหาสำคัญของโลกยุคหลังสงครามเย็น[1]ตลอดจนเป็นประเด็นปัญหาที่ตัวแสดงในระบบระหว่างประเทศไม่สามารถเพิกเฉยได้

อย่างไรก็ตาม แม้จะปรากฏให้เห็นถึงความพยายามของประชาคมระหว่างประเทศในการสถาปนาระบอบและมาตรการเพื่อป้องการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ใน 2 ระดับ[2] ได้แก่ ระดับแนวดิ่ง (Vertical) หรือการป้องกันมิให้มีการพัฒนาขีดความสามารถในการทำลายล้างของอาวุธนิวเคลียร์ และระดับแนวราบ (Horizontal) หรือการป้องกันการเพิ่มจำนวนของรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ แต่ก็เป็นที่ประจักษ์ว่านอกเหนือจากความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จำนวนรัฐที่ครองครองอาวุธนิวเคลียร์ในปัจจุบันกลับเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนเริ่มมีการยอมรับจากรัฐมหาอำนาจที่มีอาวุธนิวเคลียร์ให้บางรัฐสามารถครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ได้อย่างชอบธรรม[3]

แนวทางหนึ่งของคำอธิบายสภาพปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของการป้องกันการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ชี้ว่า“ปัญหาการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ในระบบระหว่างประเทศขณะนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพราะอุปสรรคสำคัญมาจากบรรดาประเทศมหาอำนาจทั้งหลายที่มีอาวุธนิวเคลียร์” อย่างไรก็ดี คำอธิบายข้างต้นกลับลดทอนความสลับซับซ้อนของสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาดังกล่าว

การทำความเข้าใจปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบควรให้ความสำคัญกับการพิจารณาปัจจัย 3 ประการได้แก่ 1.) ความสำคัญของประเด็นทางเศรษฐกิจต่อการซื้อขายอาวุธนิวเคลียร์ 2.) ตัวแสดงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ 3.) เจตนาและแรงจูงในการแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์

ความสำคัญของประเด็นทางเศรษฐกิจต่อการซื้อขายอาวุธนิวเคลียร์

แม้การตัดสินใจทิ้งระเบิดของสหรัฐฯในปี 1945 ที่เมืองฮิโรชิมา (Hiroshima) และนางาซากิ (Nagazaki) ประเทศญี่ปุ่นเพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่ 2[4] จะถูกพิจารณาว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ “ยุคสมัยแห่งอาวุธนิวเคลียร์” แต่ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวอาวุธนิวเคลียร์ก็ไม่เคยถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการทำสงครามอีกต่อไป[5] กล่าวอีกนัยหนึ่งคือประโยชน์ใช้สอยและสถานะของอาวุธนิวเคลียร์นั้นลักษณะในเชิงป้องปรามมากกว่าการใช้เพื่อทำสงครามระหว่างกันโดยตรง

ตรรกะเรื่องการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อวัตถุประสงค์แห่งการป้องปรามปรากฏให้เห็นในยุคสงครามเย็นเช่นเดียวกัน ดังพิจารณาได้จากข้อเสนอของ จอห์น ลูอิส แกดดิส (John Lewis Gaddis) นักประวัติศาสตร์คนสำคัญที่ชี้ว่าอาวุธนิวเคลียร์เป็นเครื่องมือสำคัญของการสร้าง “สันติภาพอันยาวนาน” ของโลกในยุคสงครามเย็น[6] ทั้งนี้เพราะสหรัฐฯและสหภาพโซเวียตต่างตระหนักถึงความสูญเสียในปริมาณมหาศาลหากมหาอำนาจทั้งสองตัดสินใจทำสงครามนิวเคลียร์ระหว่างกัน

แม้ความสำคัญของอาวุธนิวเคลียร์ในยุคสงครามเย็นถูกพิจารณาในมิติทางการเมืองและความมั่นคงหรือการเมืองในระดับบน (High Politics) เป็นสำคัญ แต่เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง ประเด็นปัญหาที่ครั้งหนึ่งถูกพิจารณาว่าเป็นเพียงการเมืองในระดับล่าง (Low Politics) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นทางเศรษฐกิจได้กลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญเทียบเท่ากับประเด็นทางความมั่นคง

โจแอนนา สเฟียร์ (Joanna Spear) ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน (The George Washington University) เสนอข้อถกเถียงที่เฉียบแหลมว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการทำความเข้าใจปัญหาการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ในยุคหลังสงครามเย็น[7]  โดยเป็นที่ประจักษ์ว่าการซื้อขายอาวุธนิวเคลียร์ ตลอดจนความรู้ความสามารถของบุคลากรในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมในบรรดารัฐที่เคยอยู่ภายใต้อาณัติของอดีตสหภาพโซเวียต อาทิ ยูเครน คาซักสถานและเบลารุส[8] ซึ่งล้วนเป็นรัฐที่มีเศรษฐกิจภายในอ่อนแอและต้องการแสวงหารายได้เข้าสู่ประเทศผ่านการส่งออกเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ อย่างไรก็ดี รัฐเหล่านี้จะไม่สามารถขายอาวุธนิวเคลียร์ได้ หากปราศจากความต้องการของผู้ซื้อในตลาดอาวุธ กล่าวอีกนัยหนึ่งการซื้อขายอาวุธนิวเคลียร์นั้นถูกกำหนดภายใต้กฎอุปสงค์และอุปทานซึ่งท้ายที่สุดแล้วทำให้การป้องกันการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ทำได้อย่างยากลำบาก

ตัวแสดงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาอาวุธนิวเคลียร์

การพิจารณาเฉพาะบทบาทของรัฐมหาอำนาจที่มีอาวุธนิวเคลียร์ต่อปัญหาการป้องกันการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ไม่สามารถอธิบายพฤติกรรมของรัฐในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อาทิ อินเดียและปากีสถานซึ่งต่างแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่าต้องการเร่งพัฒนาขีดความสามารถของอาวุธนิวเคลียร์ภายในรัฐของตนเช่นเดียวกัน[9] นอกจากนี้การให้ความสำคัญแต่เฉพาะบทบาทของรัฐชาติในการทำความเข้าใจปัญหาการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์นั้นมีลักษณะที่แคบและลดทอนบทบาทของตัวแสดงในระดับอื่น อาทิ ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทกลุ่มผู้ก่อการร้ายซึ่งสามารถเข้าถึงอาวุธนิวเคลียร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ผ่านการซื้อขายในตลาดมืดที่ถูกกำกับโดยหลักอุปสงค์และอุปทานดังที่พิจารณาในปัจจัยแรก นอกจากนี้กลุ่มผู้ก่อการร้ายยังอาศัยประโยชน์จากคุณูปการของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งอำนวยความสะดวกกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายในการเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้เช่นเดียวกัน ด้วยสภาพของปัญหาข้างต้นจึงอาจพิจารณาได้ว่าการเข้าถึงอาวุธนิวเคลียร์ในยุคปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะตัวแสดงที่เป็นรัฐอีกต่อไป อย่างไรก็ดี มาตรการหรือการสร้างแรงกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศกลับยังให้ความสำคัญกับการควบคุมและจำกัดบทบาทของตัวแสดงในระดับรัฐเป็นสำคัญ[10]

ทั้งนี้อาจพิจารณาได้ว่าแม้ประชาคมระหว่างประเทศจะมีเจตนาดีในการแสวงหาความร่วมมือและมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตามการยึดติดอยู่กับมุมมองที่ให้ความสำคัญแต่เฉพาะบทบาทของรัฐชาติโดยละเลยความสำคัญของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐกลับสะท้อนการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุดและส่งผลให้การป้องกันการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เจตนาและแรงจูงในการแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์

ปัจจัยสำคัญอีกประการที่สะท้อนให้เห็นถึงความสลับซับซ้อนของปัญหาการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์คือเจตนาและแรงจูงในการแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์ของรัฐในระบบระหว่างประเทศที่มีลักษณะแตกต่างกัน โดยบางรัฐนั้นมุ่งแสวงหาและต้องการเป็นรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อเหตุผลทางการเมืองและความมั่นคง ในขณะที่บางรัฐอาจต้องการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เพื่อสร้างเกียรติภูมิหรือเพื่อสร้างการยอมรับในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ[11] อย่างไรก็ดี การครองครองอาวุธนิวเคลียร์เพื่อเหตุผลทางความมั่นคงและการสร้างเกียรติภูมิของชาติอาจปรากฏให้เห็นควบคู่กันก็เป็นได้

นอกจากนี้แรงจูงใจที่มีผลต่อการแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์อาจเกิดจากความไม่เท่าเทียมระหว่างรัฐที่ “มี”และ “ไม่มี”อาวุธนิวเคลียร์ ตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นปัญหาดังกล่าวปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมในกรณีของอิหร่านที่ตัดสินใจพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์แต่กลับต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านจากประชาคมระหว่างประเทศซึ่งมีสหรัฐฯเป็นแกนนำหลัก คำถามสำคัญที่ตามมาคือเพราะเหตุใดรัฐมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯจึงมีความชอบธรรมในการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ในขณะที่อิหร่านกลับเป็นรัฐที่ถูกวาดภาพว่ามีพฤติกรรมอันไม่น่าไว้วางใจและไม่ควรที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือถ้ารัฐมหาอำนาจสามารถมีอาวุธนิวเคลียร์ได้ เพราะเหตุใดรัฐอื่นๆในระบบระหว่างประเทศจึงไม่สามารถครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ได้อย่างเท่าเทียมกัน

บทสรุป

กล่าวโดยสรุปแล้ว การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ไม่สามารถพิจารณาเฉพาะอิทธิพลและบทบาทของรัฐมหาอำนาจที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ โดยแม้จะเป็นที่ประจักษ์ว่ารัฐมหาอำนาจทั้งหลายที่มีอาวุธนิวเคลียร์จะมีส่วนสำคัญต่อการสถาปนาระบอบและมาตรการในการป้องกันไม่ให้อาวุธนิวเคลียร์แพร่กระจายทั้งในมิติของการเพิ่มขีดความสามารถในการทำลายล้างและจำนวนรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ แต่การพิจารณาเฉพาะบทบาทของรัฐมหาอำนาจเป็นการลดทอนความสลับซับซ้อนของปัญหาการป้องกันการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ โดยการทำความเข้าใจปัญหาดังกล่าวอย่างรอบด้านควรให้ความสำคัญกับบทบาทของการค้าและเศรษฐกิจต่อการซื้อขายอาวุธนิวเคลียร์ การเพิ่มขึ้นของตัวแสดงที่มีบทบาทต่อการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ ตลอดจนเจตนาและแรงจูงในการแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์ของตัวแสดงในระบบระหว่างประเทศที่มีลักษณะแตกต่างกัน


[1]Joanna Spear, ‘Arms and Arms Control’, in Brian White, Richard Little and Michael Smith,  eds.,

Issues in World Politics (Basingstoke: Macmillan Press, 1997), p. 113.

[2] Darryl Howlett, ‘Nuclear Proliferation’, in John BaylisSteve Smith, and Patricia Owens, eds.,
The Globalization of World Politics, 5th Edition (Oxford: Oxford University Press, 2011), pp. 391-394.

[3] Paul Bracken, ‘The Dawning of The Second Nuclear Age’, Bangkok Post, 13 January 2013, p. 11.

[4] Andrew Heywood, Global Politics (New York: Palgrave Macmillan, 2011), p. 265.

[5] T.V. Paul,  The Tradition of  Non-Use of  Nuclear Weapons (Stanford: Stanford University Press, 2009).

[6] โปรดดู John Lewis Gaddis, The Long Peace: Inquiries into the History of the Cold War (New York: Oxford University Press, 1987).

[7] Spear, ‘Arms and Arms Control’, p. 114.

[8] Amy F. Woolf,  Nuclear Weapons in the Former Soviet Union: Location, Command, and Control, [Online]. Available: http://www.fas.org/spp/starwars/crs/91-144.htm [Accessed on Feb 14, 2013].

[9] Howlett, ‘Nuclear Proliferation’, p. 384.

[10] Bonnie Jenkins, ‘Combating Nuclear Terrorism: Addressing Nonstate Actor Motivations’,  Annals of the American Academy of Political and Social Science, Vol. 607, Confronting the Specter of Nuclear Terrorism (September, 2006), pp. 33-42.

[11] Howlett, ‘Nuclear Proliferation’, p. 388.

วิกฤตในเชิงอำนาจของรัฐสมัยใหม่ : การประกอบสร้างอัตลักษณ์ผ่านชาิติและศาสนในมาเลเซีย

 

identity

กระบวนการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่สะท้อนให้เห็น“วิกฤตในเชิงอำนาจของรัฐสมัยใหม่หรือความไม่ลงรอยระหว่างกระบวนการทำให้เป็นสมัยใหม่ซึ่งมุ่งลดทอนแนวคิดและพฤติกรรมอันไม่สมเหตุสมผล [1]อย่างไรก็ในในกระบวนการสร้างชาติเองก็หลีกเลี่ยงมิได้ที่จะสนับสนุนประดิษฐกรรมหรือวัตรปฏิบัติทางศาสนาบางประการซึ่งถูกประกอบสร้างขึ้นเพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาตินั้นๆ

อนึ่ง ความย้อนแย้งของรัฐ-ชาติสมัยใหม่ยังสามารถสะท้อนให้เห็นผ่านแนวคิดเรื่อง “ชาติ”และ “ศาสนา” ซึ่งมีลักษณะซ้อนทับและผสมผสานกันอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของชาติซึ่งมีศาสนาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ เหนือสิ่งอื่นใด “วิกฤตในเชิงอำนาจของรัฐสมัยใหม่” นั้นเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่กระบวนการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ในหลายประเทศเพิ่งเริ่มต้นขึ้นภายหลังจากการสิ้นสุดของระบอบอาณานิคม อย่างไรก็ดี สภาวการณ์ข้างต้นก็ปรากฏให้เห็นได้ในรัฐไทยเช่นเดียวกัน ดังพิจารณาได้จากความพยายามเชื่อมโยงศาสนาพุทธกับวิทยาศาสตร์โดยชี้ว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มีมีญาณวิทยาที่ใกล้เคียงกับวิทยาศาสตร์ซึ่งนัยหนึ่งคือเป็นการยอมรับว่าศาสนาพุทธย่อมถูกตรวจสอบหรือตั้งคำถามได้ อย่างไรก็ดี การดำรงอยู่ของศาสนาพุทธในสังคมไทยยังสะท้อนให้เห็นถึง สภาวะที่ “ศรัทธา” ยังคงมีอำนาจเหนือ “เหตุผล” โดยเมื่ออาณาบริเวณอันศักดิ์สิทธิแห่งศรัทธาของศาสนาพุทธถูกวิพากษ์วิจารณ์ดังปรากฏให้เห็นในกรณีของการตั้งคำถาม ของคำผกา หรือคุณลักขณา ปันวิชัย ถึงความจำเป็นและความสมเหตุสมผลของการสวดมนต์ข้ามปี กระแสแห่งความโกรธขึ้งและคับข้องใจ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วนำไปสู่การตีตราว่าคำผกาว่าเป็นคนนอกศาสนา

มิพักต้องพูดถึงสถานะของสถาบันกษัตริย์และพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในสังคมไทยซึ่งแท้จริงแล้วเป็นประดิษฐกรรมที่ถูกสถาปนาขึ้นในยุคสงครามเย็นแต่กลับกลายเป็นอุดมการณ์หลักของรัฐไทยจวบจนปัจจุบัน แม้อุดมการณ์และคุณค่าแบบเสรีนิยมจะได้รับการยอมรับในสังคมไทย แต่เฉกเช่นเดียวกับประเด็นเรื่องศาสนา สถานะของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยอยู่ในอาณาบริเวณอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งอยู่เหนือการตรวจสอบหรือวิพากษ์วิจารณ์ด้วยข้อจำกัดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112[2] ทั้งนี้หากพิจารณาถึงการดำรงอยู่ของมาตรา 112 จะเห็นได้ว่าถูกบัญญัติไว้ในหมวดของความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร[3] กล่าวอีกนัยหนึ่งสมการทางความมั่นคงของรัฐไทยในยุคปัจจุบันมีสถาบันกษัตริย์เป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

หากขยับขยายข้อถกเถียงหลักเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและศาสนาเพื่ออธิบายสภาพสังคมในมาเลเซียหลักหมุดสำคัญซึ่งสะท้อนสภาวะที่รัฐและศาสนาซ้อนทับและผสมผสานกันแนบแน่นปรากฏให้เห็นผ่านรัฐธรรมนูญของมาเลเซียที่ระบุว่า หากบุคคลเกิดเป็นพลเมืองสัญชาติมาเลย์ จำต้องนับถือศาสนามุสลิม โดยข้อกำหนดข้างต้นเป็นการสร้างความมั่นคงให้แก่ชุมชนมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ ตลอดจนเป็นการทำให้คนมาเลย์กับการนับถือศาสนาอิสลามเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้

นอกเหนือจากการประกอบสร้างอัตลักษณ์ของความเป็นมาเลย์ในมิติของภาครัฐที่มีลักษณะเป็นทางการ การสร้างอัตลักษณ์และความผูกพันระหว่างชาวมาเลย์กับความเป็นมุสลิมยังปรากฏให้เห็นในวิถีชีวิตทั่วไปของสังคมมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนให้เกิดการฟื้นฟูศาสนาอิสลาม (Islamic Rivivalism) ผ่านผลักดันของขบวนการดาวะห์ (Dakwah) ในฐานะตัวแทนของปัญญาชนรุ่นใหม่ที่มุ่งหมายที่จะฟื้นฟูศาสนาอิสลามปรากฏให้เห็นนับตั้งแต่เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวจีนและชาวมาเลย์ในปี 1969 และมีบทบาทเรื่อยมาผ่านการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมจนทำให้ศาสนาอิสลามปรากฏให้เห็นในทุกปริมณฑลของชีวิตของการเป็นพลเมืองสัญชาติมาเลเซีย

มาเลเซียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีมหาเธร์  โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad)[4] ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศผ่านนโยบายเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Policy) ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นนโยบายที่เอื้อประโยชน์และมอบสิทธิพิเศษให้แก่คนเชื้อสายมาเลย์ แต่ในขณะเดียวกันการผลักดันและปฏิบัติตามนโยบายข้างต้นก็เป็นการสร้างช่องว่างระหว่างชาวมาเลย์กับชาวจีนหรืออินเดียในสังคมมาเลเซียไปโดยปริยาย นอกจากนี้แม้มาเลเซียภายใต้มหาเธร์จะมุ่งเน้นให้การส่งเสริมขีดความสามารถและการพัฒนาของมาเลเซียให้เท่าทันกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แต่ยุทธศาสตร์ของมาเลเซียยังไม่ละทิ้งอุดมการณ์เรื่องการฟื้นฟูศาสนาอิสลาม ดังที่มหาธีร์ชี้ว่า การพัฒนาประเทศของมาเลเซียควรวางอยู่บนหลักการและจิตวิญญาณของศาสนาอิสลามเพื่อเป็นแนวทางหลักของมาเลเซียต่อไปในอนาคต

ท้ายที่สุดแล้วอาจสรุปได้ว่า ความย้อนแย้งของรัฐชาติสมัยใหม่ระหว่างความพยายามในการผลักดันให้รัฐชาติกลายเป็นสังคมสมัยใหม่ ในขณะเดียวกันกับปรากฏให้เห็นถึงประดิษฐกรรมแห่งความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งถูกประกอบสร้างเพื่อร้อยรัดความจงรักภักดีของสมาชิกในรัฐให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้ในทางทฤษฏีแนวคิดทั้งสองประการจะเปรียบเสมือนเป็นคู่ตรงข้ามระหว่างกัน แต่ในทางปฏิบัติแล้วการสร้างรัฐสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างรัฐที่เพิ่งก่อร่างสร้างตัวภายหลังจากการได้รับเอกราช แนวคิดทั้งสองประการกลับเป็นสิ่งที่สอดประสานจนยากที่จะแยกออกจากกันได้


[1] Shamsul A. B., ‘Identity construction, nation formation, and Islamic revivalism in Malaysia,’ in R. Hefner and P. Horvatich (eds.). Islam in an Era of Nation Slates: Politics and Religious Renewal in Muslim Southeast Asia, 1997. pp. 207-227

[2] มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี

[3] โปรดดู สมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์และ เผ่าพันธ์ ชอบน้ำตาล, ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับสมบูรณ์). กรุงเทพฯ: เจริฐรัฐการพิมพ์, 2552 หน้า 50-52

[4] นายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของมาเลเซีย ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1981 -2003

พลวัตรแห่งความขัดแย้งในทะเลจีนใต้: ดินแดนแห่งผลประโยชน์และเขตอิทธิพลของมหาำอำนาจ

fghhj

ในทัศนะของนักคิดสกุลสัจนิยม ความขัดแย้งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ[1] โดยหากพิจารณาตามฐานคิดแบบฮอบส์ (Hobbesian) ซึ่งชี้ว่าในระบบระหว่างประเทศ รัฐต่างมีปฏิสัมพันธ์กันภายใต้สภาวะอนาธิปไตย อันเนื่องมาจากการขาดรัฐบาลหรือองค์กรกลางอันมีอำนาจเหนือการตัดสินใจของรัฐอธิปไตย[2] กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การเมืองระหว่างประเทศวางอยู่บนพื้นฐานที่รัฐทั้งหลายต้องช่วยเหลือตัวเองเพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงปลอดภัยและผลโยชน์ของตนเป็นสำคัญ ด้วยสภาวการณ์ข้างต้นจึงทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นสภาวะปกติในการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งนี้หากประยุกต์ข้อเสนอของสำนักคิดสัจนิยมเพื่ออธิบายปัญหาความขัดแย้งบริเวณทะเลจีนใต้ อาจพิจารณาได้ว่าทะเลจีนใต้เป็นอาณาบริเวณที่ฉายภาพพลวัตรของความขัดแย้งทั้งในมิติทางความมั่นคงและเศรษฐกิจ[3]อันยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐอเมริกาต่างเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาความขัดแย้งบริเวณทะเลจีนใต้ ดังจะพิจารณาต่อไป

ปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้ถูกปรารภว่าเป็นปัญหาซึ่งเปรียบเสมือนเป็น “มารดาของปัญหาข้อพิพาททั้งหลาย”[4] เพราะนอกเหนือจากความรุ่มรวยของแหล่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติโดยเฉพาะบริเวณหมู่เกาะ(Paracels) และสแปรตลีย์ (Spratlys) ทะเลจีนใต้ยังมีความสำคัญทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และการค้าระหว่างประเทศ[5] โดยทะเลจีนใต้ถือเป็นเส้นทางเดินเรือและช่องทางลำเลียงแหล่งพลังงานที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ยังผลให้รัฐทั้งที่เป็นสมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และรัฐนอกกลุ่มอาเซียน อันได้แก่ ไต้หวัน และจีน ต่างล้วนต้องการกล่าวอ้างสิทธิอธิปไตยในทะเลจีนใต้แทบทั้งสิ้น

บทบาทของจีนในทะเลจีนใต้ปรากฏให้เห็นตั้งแต่ปี 1974 โดยเมื่อสหรัฐอเมริกาถอนทหารออกจากเวียดนามใต้ จีนได้ส่งกำลังทหารเข้ายึดครองหมู่เกาะพาราเซล[6] โดยอ้างเหตุผลทางประวัติศาสตร์ว่าจีนได้ครอบครองบริเวณทะเลจีนใต้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น[7] แม้จีนจะมิได้พิจารณาว่าปัญหาทะเลจีนใต้นั้นมีความสำคัญเฉกเช่นกรณีทิเบตหรือไต้หวัน[8] แต่นโยบายต่างประเทศของจีนต่อปัญหาทะเลจีนใต้ยังวางอยู่บนหลักการที่ว่า“จีนมีอำนาจอธิปไตยอันมิอาจโต้แย้งได้เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์และบริเวณน่านน้ำโดยรอบ”[9]

การยกระดับความมั่นคงของรัฐหนึ่ง ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อความไม่มั่นคงของรัฐอื่นๆอย่างหลีกเลี่ยงมิได้[10] และการขยายเขตอิทธิพลของจีนสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างแสนยานุภาพของกองเรือจีนย่อมส่งผลโดยตรงต่อการรับรู้ (Perception) ของรัฐซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนามและฟิลิปปินส์[11] ซึ่งตระหนักว่าจีนเป็นภัยคุกคามที่สำคัญของตน  ด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวประกอบกับการขยายบทบาทของจีนในดินแดนอุษาคเนย์อย่างมีนัยสำคัญย่อมส่งผลให้รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งคำถามต่อการผงาดขึ้นมามีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศของจีนว่าเป็นการผงาดขึ้นอย่างสันติ (Peaceful Rise) หรือไม่[12] ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างจีนกับรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปิดโอกาสให้ การดึงรัฐมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯเพื่อถ่วงดุลอิทธิพลของจีน จึงกลายเป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผลและเป็นแนวทางหนึ่งที่จะค้ำประกันความมั่นคงปลอดภัยให้แก่รัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปฏิเสธได้ยากว่า นับตั้งแต่ความล้มเหลวในสงครามเวียดนามและการประกาศลัทธินิกสัน (Nixon Doctrine) จะส่งสัญญาณว่าบทบาทและอิทธิพลของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเมื่อประกอบกับการสิ้นสุดของสงครามเย็นและการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงมิใช่จุดยุทธศาสตร์ทางความมั่นคงที่สหรัฐฯให้ความสำคัญอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนที่ทำให้สหรัฐฯกลับเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้อีกครั้งคือ เหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน 2001 ซึ่งส่งผลให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็น “แนวรบที่สอง” ของยุทธศาสตร์การต่อต้านก่อการร้ายของสหรัฐฯไปโดยปริยาย  นอกเหนือจากการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของสหรัฐฯอีกประการหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือการปิดล้อมการขยายอิทธิพลของจีน โดยปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้นั้นถือเป็นใบเบิกทางสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯกลับเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้ได้อย่างชอบธรรมอีกครั้ง โดยจุดมุ่งหมายของสหรัฐฯที่จะรักษาสถานะของความเป็นเจ้าควบคู่กันไปกับการสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นรัฐที่สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับสหรัฐฯ    และต้องการให้สหรัฐฯค้ำประกันความมั่นคงปลอดภัยแก่ตนหากถูกรุกรานจากจีน

การแสวงหาแนวทางปฏิบัติร่วมกัน (Code of conduct) ซึ่งถือเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งบริเวณทะเลจีนใต้นั้นยังห่างไกลจากความสำเร็จ แม้จะปรากฏให้เห็นถึงความพยายามผลักดันให้เกิดการเจรจาระหว่างรัฐที่มีข้อพิพาทระหว่างกัน อาทิ ความพยายามของอาเซียนในปี 2012 ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค เอเชีย-แปซิฟิก(ASEAN Regional Forum: ARF) แต่ผลของการเจรจากลับสะท้อนความแตกแยกของรัฐสมาชิกในอาเซียน โดยเป็นที่ประจักษ์ว่า รัฐสมาชิกในอาเซียนนั้นขาดเอกภาพและไม่สามารถที่จะสร้างอำนาจต่อรองเพื่อคานอิทธิพลของจีนได้ การขาดกลไกในการระงับข้อพิพาทในระดับภูมิภาคย่อมเปิดโอกาสให้รัฐมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯเข้ามามีส่วนสำคัญต่อการกำหนดทิศทางของปัญหาทะเลจีนใต้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม การหวนคืนสู่เอเชียของสหรัฐฯภายใต้ประธานาธิบดีบารัก โอบามาก็มิได้เป็นเครื่องยืนยันว่าปัญหาในทะเลจีนใต้นั้นจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ในทางตรงกันข้าม การเผชิญหน้าระหว่างจีนและสหรัฐฯกลับจะทำให้ปัญหาทะเลจีนใต้ตึงเครียดมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ท้ายที่สุดแล้วอาจสรุปได้ว่า ทะเลจีนใต้นั้นเปรียบสนามของเกมแห่งอำนาจซึ่งทั้งรัฐเล็กและรัฐมหาอำนาจต่างต้องการตักตวงผลประโยชน์จากบริเวณนี้ด้วยกันแทบทั้งสิ้น โดยหากพิจารณาจากแอกประวัติศาสตร์ในอดีต สถานการณ์ปัจจุบัน ตลอดจนแนวโน้มของปัญหาความขัดแย้งซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต คงไม่ไกลเกินไปนักหากจะสรุปว่าปัญหาความขัดแย้งบริเวณทะเลจีนใต้นั้นเป็นปรากฏการณ์อันยากที่จะหลีกเลี่ยงได้


[1] Robert Jackson and Georg Sørensen, Introduction to international relations (Oxford: Oxford University Press, 1999), p. 68.

[2] Paul D’Anieri, International Politics: Power and Purpose in Global Affairs (Wadsworth: Cengage Learning, 2010), p. 30.

[3] Sam Bateman, ‘Good Order at Sea in the South China Sea’, in W. U. Shicun and Z. OU. Keyuan, eds., Maritime Security in the South China Sea (Farnham: Ashgate Publing Limited, 2009), p. 15.

[4] Aileen Baviera, ‘South China Sea: Managing Territorial and Resource Disputes’, in Annelies Heijmans, Nicola Simmonds and Hans van de Veen, eds., Searching for Peace in Asia Pacific: An Overview of Conflict Prevention and Peace building Activities (London: Lynne Rienner Publishers, 2004), p. 505.

[5] วิศรา ไกรวัฒนพงศ์ และวรศักดิ์ มหัทธโนบล, เอกสารประกอบการสัมมนาระดับชาติเรื่องจีนกับความมั่นคงของมนุษย์ (กรุงเทพฯ: โครงการวิจัยความร่วมมือนานาชาติกับความมั่นคงของมนุษย์, 2554) หน้า 158.

[6] เขียน ธีระวิทย์, นโยบายต่างประเทศจีน (กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2541) หน้า 387.

[7] Allan Collins, The Security Dilemmas of Southeast Asia (Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, 2000), p. 144.

[8] M. Taylor Fravel, ‘China’s Strategy in the South China Sea’, Contemporary Southeast Asia, Vol. 33, No. 3
(December 2011), p. 296.

[9] China Defense Mashup, Factbox: Nansha (Spratly Island) indisputable Territory, [Online]. Available: http://www.china-defense-mashup.com/factbox-nansha-spratly-island-indisputable-territory.html [Accessed on Dec 13, 2012]

[10] Oliver Daddow, International Relations Theory (London: SAGE Publication, 2009), p. 83.

[11] คู่ขัดแย้งของปัญหาทะเลจีนใต้ที่สำคัญคือ จีน- เวียดนาม และจีน- ฟิลิปปินส์ โดยจีนและเวียดนามเกิดการปะทะครั้งสำคัญระหว่างกองเรือของทั้งสองชาติบริเวณแนวปะการังเฟียรี ครอส (Fiery Cross Reef) ในปี 1988 ยังผลให้ชาวเวียดนามกว่า 70 คนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว สำหรับกรณีข้อพิพาทระหว่างจีนและฟิลิปปินส์ เหตุการณ์การเผชิญหน้าครั้งสำคัญระหว่างทั้งสองชาติเกิดขึ้นบริเวณแนวปะการังมิสชีฟ (Mischief Reef) ในปี 1995  โดยการปะทะกันบริเวณแนวปะการังมิสชีฟมีส่วนสำคัญต่อพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพฟิลิปปินส์ควบคู่กันไปการให้สัตยาบันความตกลงทางการทหารระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ (Visiting Forces Agreement) ในปี 1999 เพื่อค้ำประกันความมั่นคงปลอดภัยจากการคุกคามโดยจีน

[12] Hongyi Lai, The domestic sources of China’s foreign policy: Regimes, leadership, priorities and process, (London: Routledge, 2010), p. 160.

ประชาคมอาเซียน : โอกาสและความท้าทายบนเส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ


148686 (1)

“ยุโรปไม่ได้เป็นต้นแบบอาเซียน เรามีเป้าหมายสำคัญแตกต่างกัน
แต่ขบวนการการบูรณาการเป็นสหภาพยุโรปเป็นแรงบันดาลใจให้เรา”

                                         ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ  เลขาธิการอาเซียน

กระแสตื่นตัวต่อประชาคมอาเซียน (ASEAN Communities) ในสังคมไทยมักผูกโยงอยู่กับความสำเร็จของสหภาพยุโรปและความพยายามในการประยุกต์ตัวแบบในการบูรณาการของสหภาพยุโรปเพื่อเป็นแนวทางในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558  นอกจากนี้การรับรู้ในสังคมไทยเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนมักให้ความสำคัญกับการก่อตัวของประชาคมอาเซียนในมิติเชิงโครงสร้างเป็นสำคัญ กล่าวคือแม้ประชาคมอาเซียนจะประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก อันได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคง  ประชาคมเศรษฐกิจ  และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับโครงสร้างของ “รุ่นบุกเบิก” อย่างสหภาพยุโรป แต่ทั้งนี้อาเซียนกับยุโรปนั้นมีพัฒนาการที่แตกต่างกันจนยากที่จะนำมาเปรียบเทียบหรือใช้เป็นตัวแบบในการบูรณาการระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จินตภาพเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนข้างต้นเป็น “มายาคติ” สำคัญที่บดบังความแตกต่างของบริบททางประวัติศาสตร์ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนความมุ่งหมายของอาเซียนและสหภาพยุโรปซึ่งวางอยู่บนฐานคิดที่แตกต่างกัน เหนือสิ่งอื่นใดความสำเร็จของการบูรณาการสู่ประชาคมอาเซียนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน หากแต่จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาแห่งการปรับตัวและการสร้างความไว้ใจระหว่างรัฐสมาชิก แต่ทั้งนี้คงไม่ไกลเกินไปนักหากจะกล่าวว่า สหภาพยุโรปเองก็เป็นแรงบันดาลใจและบทเรียนอันล้ำค่าสำหรับการบูรณาการในระดับภูมิภาค (regional integration)โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออนาคตของประชาคมอาเซียน

เมื่อพูดถึงประชาคมอาเซียน หลายคนมักพุ่งความสนใจไปที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นอันดับแรก  กล่าวโดยทั่วไปประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนคือ การสร้างตลาดเดียว อันมีฐานการผลิตร่วมกันซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายเสรีทั้งสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งยังเป็นโอกาสในการขยายตลาดไปสู่ประชากรกว่า 600 ล้านคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผนวกกับเป็นหนทางในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและต่อรองกับรัฐนอกกลุ่มอาเซียนภายใต้กระแสธารของลัทธิเสรีนิยมใหม่ไปพร้อมๆกัน อย่างไรก็ตามแต่นอกเหนือจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมอาเซียนยังประกอบไปด้วย ประชาคมการเมืองและความมั่นคง และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นอีก 2 เสาหลักซึ่งมีความสำคัญ แต่เป็นที่น่าประหลาดใจว่า การรับรู้ในสังคมไทยกลับให้น้ำหนักกับประชาคมเศรษฐกิจแต่เพียงมิติเดียว

 สิ่งสำคัญที่ควรหยิบยกขึ้นพิจารณาในลำดับต่อไปคือ อุปสรรคและข้อจำกัดของอาเซียน อาทิ ช่องว่างในการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วหากปราศจากการแก้ไข จะกลายเป็นภาระของประชาคมอาเซียนที่ต้องแบกรับต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ นอกจากนี้วิถีปฏิบัติแบบอาเซียน (ASEAN Way) ซึ่งให้ความสำคัญกับการติดต่อระหว่างกันอย่างไม่เป็นทางการ รวมทั้งหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน (Non-intervention) ก็ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองว่าจะทำให้พัฒนาการของอาเซียนดำเนินไปอย่างล่าช้า

อุปสรรคที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการก่อตัวของประชาคมอาเซียน คือ ความรู้สึกถึงความเป็นประชาชนอาเซียนยังคงมีอยู่อย่างจำกัด แต่ทั้งนี้เป็นที่เข้าใจได้ว่าการที่จะเคลื่อนย้ายและถ่ายโอนความจงรักภักดีไปสู่องค์กรกลางที่มีลักษณะเป็น “ประชาคม” ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติและอำนาจอธิปไตยของรัฐ จึงไม่แปลกนักหากรัฐหรือแม้แต่พลเมืองในอาเซียนเองจะมีความเคลือบแคลงใจต่อการกำเนิดของประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่หลายประเทศในอาเซียนยังคงยึดติดอยู่กับอุดมการณ์ชาตินิยมอันไปเต็มไปด้วยแอกประวัติศาสตร์แห่งความเกลียดชังและความไม่ไว้วางใจระหว่างกัน ซึ่งเป็นการยากที่จะสร้างความร่วมมือหรือการพัฒนาระดับการบูรณาการในเชิงลึกต่อไปในอนาคต นอกจากนี้จุดอ่อนที่สำคัญของอาเซียนอีกประการหนึ่งซึ่งปรากฏให้เห็นในมิติทางการเมืองและความมั่นคงคือ การขาดนโยบายร่วมกันของอาเซียน เพื่อรับมือกับกิจการตลอดจนข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนหรือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศนอกกลุ่มอาเซียน  ปัญหาข้อพิพาทเหนือทะเลจีนใต้ถือเป็นตัวอย่างอันเป็นรูปธรรมที่แสดงให้เห็นว่าอาเซียนขาดความสามารถที่จะกำหนดนโยบายอันเป็นเอกฉันท์เพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทภายในโดยปราศจากการแทรกแซงจากมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯและจีน  กล่าวอีกนัยหนึ่งคืออาเซียนไม่สามารถรวมพลังเพื่อพูดเป็นเสียงเดียวกันได้นั่นเอง

เมื่อพูดถึงประชาคมอาเซียนกับประเทศไทย คงปฏิเสธได้ยากว่าสังคมไทยตั้งความหวังไว้ไม่น้อยกับประชาคมอาเซียนว่าจะสร้างโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการและแรงงานไทยในอนาคต แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า ประชาคมอาเซียนมิได้เอื้อประโยชน์ต่อประเทศไทยแต่เพียงชาติเดียว หากแต่การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนจะอำนวยประโยชน์ต่อรัฐสมาชิกอื่นๆในอาเซียนด้วยเช่นกัน ดังนั้นการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนจึงเป็นบททดสอบสำคัญของผู้ประกอบการไทยที่จะต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีข้อได้เปรียบทั้งด้านราคาสินค้าและค่าแรงซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออนาคตของผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

ทั้งนี้เราจึงไม่ควรประเมินการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนว่าเป็น“โอกาส” แต่เพียงอย่างเดียว หากจำต้อง “เผื่อใจ” และคำนึงถึงข้อจำกัดของประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากปัญหาที่รุมเร้าประเทศไทย ณ ขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเสถียรภาพการเมืองภายใน หรือความเสียหายจากมหาวาตภัยในปีพ.ศ. 2554  ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติและความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทย คือการเตรียมความพร้อมผ่านการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนในทุกภาคส่วน เพราะยิ่งเราเริ่มปรับตัวเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้เร็วมากขึ้นเท่าใด โอกาสของประเทศไทยก็ย่อมมีเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ท้ายที่สุดแล้ว หนทางสู่ประชาคมอาเซียนนั้นยังเป็นความท้าท้ายบทใหม่และอยู่บนเส้นทางซึ่งมิได้โรยอยู่บนกลีบกุหลาบอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามแต่ เส้นทางนี้ยังคงเป็นเส้นทางที่เราสามารถก้าวเดินอย่างมั่นคงและไม่ “ถูกตำ” จากคมของหนามกุหลาบ หากเรามีความพร้อมและ“ ขยับ ”ให้ทันชาติอื่น ทั้งนี้ คำถามหลักที่สังคมไทยควรขบคิดต่อไปคือ เราจะเตรียมรับมือกับประชาคมอาเซียนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยได้อย่างไร ?

ฑภิพร สุพร
17 ก.พ. 2555

ปัญหาชนกลุ่มน้อยกับการสร้างสันติภาพในพม่า

ปัญหาชนกลุ่มน้อยกับการสร้างสันติภาพในพม่า

ethnic-rohingya-refugee-afp-670-6

การปฏิรูปทางการเมืองครั้งสำคัญนับตั้งแต่การขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดี เต็ง เส่งซึ่งตามมาด้วยมาตรการอันสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของชาติตะวันตก ดังปรากฏให้เห็นผ่านการปล่อยนักโทษการเมือง การปล่อยตัว อองซาน ซูจี และเปิดโอกาสให้ซูจีกลับเข้ามามีบทบาทในการเมืองผ่านผ่านการเป็นฝ่ายค้านในพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ตลอดจนการเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานและลดระดับการเซ็นเซอร์สื่อภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นที่ประจักษ์ว่าความท้าทายของพม่าในยุคของประธานาธิบดี เต็ง เส่ง จะมีหลายประการอาทิ การส่งเสริมกระบวนการสร้างประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน การปฏิรูประบบเศรษฐกิจภายในประเทศเพื่อรองรับการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธได้ยากว่าหลักหมุดสำคัญของปัญหาภายในพม่า คือปัญหาชนกลุ่มน้อยภายในประเทศซึ่งถือเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกในสังคมพม่านับตั้งแต่การได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 ตลอดจนเป็นปัญหาที่ถูกจัดลำดับไว้ว่าเป็นประเด็นที่จำต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน

แม้จะปรากฏให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลทหารพม่านับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยผ่านการทำข้อตกลงหยุดยิง(Ceasefire Agreement) โดยชนกลุ่มน้อยกว่า 17 กลุ่มสามารถเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลทหารได้เป็นผลสำเร็จ[1] อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงหยุดยิงกลับสะท้อนสภาพของความขัดแย้งที่มิได้รับการแก้ไข ยิ่งไปกว่านั้นอาจพิจารณาได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวยังห่างไกลจากเป้าหมายที่จะสร้างสันติภาพในพม่า ดังปรากฏให้เห็นการปะทะระหว่างทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อยอาทิ องค์กรอิสรภาพคะฉิ่น(Kachin Independence Organization – KIO) และกองทัพรัฐฉานเหนืออยู่เป็นระยะ โดยส่วนหนึ่งของความล้มเหลมในข้อตกลงหยุดยิงคือ การปราศจากการเจรจาทางการเมือง โดยการเจรจาหยุดยิงโดยที่ไม่มีการเจรจาทางการเมืองส่งผลให้ฝ่ายชนกลุ่มน้อยไม่สามารถมั่นใจได้ว่าหากตัดสินใจวางอาวุธ ทิศทางของการการบริหารจัดการตลอดจนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างส่วนกลางและชนกลุ่มน้อยจะเป็นไปในทิศทางใด กล่าวอีกนัยหนึ่งข้อตกลงหยุดยิงนั้นเป็นเพียงยุทธศาสตร์เดิมของรัฐบาลทหารพม่าในอดีตที่ต้องการแช่แข็งปัญหามากกว่าการยุติปัญหา[2] มิพักต้องพิจารณาถึงความพยายามของรัฐบาลทหารพม่าที่ต้องการผนวกรวมกองกำลังของชนกลุ่มน้อยให้อยู่ใต้การกำกับดูแลของกองทัพพม่าหรือการเข้าตรวจตรา/ขยายเขตอิทธิพลบริเวณชายแดนผ่านการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนซึ่งนัยหนึ่งสะท้อนความพยายามของรัฐบาลพม่าที่จะลดทอนอำนาจในการบริหารจัดการพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยไปในตัว

นอกจากนี้ปัญหาชนกลุ่มน้อยในพม่ายังมีสาเหตุจากปัญหาความไม่เท่าเทียมทางชาติพันธุ์ระหว่างชาวเบอมัน (Burman) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีส่วนร่วมทางการเมือง ตลอดจนยึดกุมโครงสร้างเศรษฐกิจของพม่า โดยสถานะที่เหนือกว่าของชาวเบอมันทำให้ชนกลุ่มน้อยอื่นๆตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมและมองว่าการดำรงอยู่ของชาติพันธุ์ของตนในพม่านั้นไม่ต่างอะไรกับการเป็น “พลเมืองชั้นสอง”ทั้งในมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม  โดยแม้ความหวังจากประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาชนกลุ่มน้อยในพม่าจะฝากไว้กับ อองซาน ซูจี แต่ก็ปรากฏให้เห็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชนกลุ่มน้อยว่า ซูจีนั้นเป็นตัวแทนของชนชั้นนำเชื้อสายเบอมันที่มิได้เล็งเห็นว่าปัญหาชนกลุ่มน้อยนั้นเป็นเรื่องสลักสำคัญแต่อย่างใด  ทั้งนี้อาจพิจารณาได้ว่า การเรียกร้องประชาธิปไตยในทรรศนะของซูจีตลอดจนชนชั้นนำพม่าที่ต้องการต่อสู้ระบอบอำนาจนิยมโดยไม่ตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจแบบรวมศูนย์ของรัฐบาลทหาร ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ชนกลุ่มน้อยให้ความสำคัญ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ความแตกต่างของจุดยืนทางการต่อสู้และความหมายของประชาธิปไตยระหว่างชนชั้นกลางเชื้อสายเบอมัน กับการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของชนกลุ่มน้อยจากการเป็นอิสระจากรูปแบบของการรวมศูนย์อำนาจมิได้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน

กล่าวโดยสรุปแล้ว แม้จะไม่ปรากฏถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่เป็นเหตุผลเบื้องหลังของการปฏิรูปการเมืองของรัฐบาลทหารพม่าอย่างเป็นรูปธรรม แต่การตัดสินใจเปิดพื้นที่ทางการเมืองและเศรษฐกิจในยุคของเต็ง เส่ง ก็สะท้อนว่าพม่าตระหนักถึงกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยตลอดจนแรงกดดันจากสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ ประกอบกับกระแสธารของแนวคิดเสรีนิยมใหม่และความพยายามที่จะ “ปลดล็อก” ปัญหาความแตกแยกภายในกองทัพ โดยการผลักดันให้ผู้นำอาวุโสในกองทัพสามารถลงจากตำแหน่งและเข้าสู่สนามทางการเมืองเพื่อลดความขัดแย้งกับกลุ่มคลื่นลูกใหม่ในกองทัพ เหนือสิ่งอื่นใด เส้นทางของการพัฒนาประชาธิปไตยและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจพม่าในปัจจุบัน เดินทางมากไกลเกินกว่าที่จะย้อนกลับไปสู่การควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จภายใต้ระบอบอำนาจนิยมอีกต่อไป อย่างไรก็ดี ปัญหาที่รัฐบาลเต่ง เส็งไม่สามารถมองข้ามได้คือ ปัญหาชนกลุ่มน้อยซึ่งเป็นปัญหาที่จำต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน โดยแม้จะเป็นที่ประจักษ์ว่าพม่าจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพและโอกาสในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่หากพม่ายังไม่สามารถสร้างสันติภาพและการเมืองที่มีเสถียรภาพได้ โอกาสทางเศรษฐกิจของพม่าก็ย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

 


[1] อย่างไรก็ตาม มีชนกลุ่มน้อย 3 กลุ่มหลักคือ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (The Karen National Union- KNU) พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Progressive Party -KNPP) และกองทัพรัฐฉานใต้ (Shan State Army – South – SSA-S)  ที่มิเคยบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่าได้เลย

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียน- จีน ในบริเวณอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียน- จีน ในบริเวณอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง[1]

งานวิจัยชิ้นนี้ต้องการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียน- จีน (ASEAN- China Free Trade Agreement – ACFTA) ต่อประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง[2] โดยหยิบยกผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรีและปัญหาสิ่งแวดล้อมในกัมพูชาเป็นกรณีศึกษา โดยงานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่าแม้การทำข้อตกลงการค้าเสรีจะส่งผลให้การค้าและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่การทำข้อตกลงดังกล่าวก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศในบริเวณอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อาจพิจารณาได้ว่าประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ถูกจัดลำดับความสำคัญไว้รองจากประเด็นทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยการทำข้อตกลงทางการค้าเสรีระหว่างอาเซียน- จีนปราศจากการคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอันอาจเกิดขึ้นภายหลังจากการลงนามในข้อตกลงดังกล่าว นอกจากนี้ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่ม

แม่โขงยังขาดกลไกเชิงสถาบันและกฎเกณฑ์ซึ่งสามารถบังคับใช้เพื่อรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานสิ่งแวดล้อมได้อย่างเพียงพอ ทั้งนี้หากพิจารณาจากกรณีตัวอย่างในกัมพูชา การทำข้อตกลงการค้าเสรีกับจีนซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของสินค้าที่มีมลพิษ  (Polluting Sectors)[3]  อันก่อให้เกิดการสูญเสียผืนป่า การลดลงของสัตว์น้ำภายในประเทศ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่ง ตลอดจนการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆในอนาคต   โดยแม้รัฐบาลกัมพูชาจะผลักดันให้เกิดแผนระดับชาติในการจัดการ รักษาและป้องกันทรัพยากรธรรมชาติของกัมพูชา แต่การปรับใช้นโยบายดังกล่าวยังห่างไกลจากเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยโครงการดังกล่าวของรัฐบาลกัมพูชาจำต้องเผชิญกับทั้งปัญหานานาประการ อาทิ การขาดแคลนงบประมาณและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ตลอดจนการทำงานที่มีลักษณะทับซ้อนกับหน่วยงานอื่น ฯลฯ

กล่าวโดยสรุปแล้ว งานวิจัยชิ้นนี้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำคัญในการแสวงหาแนวทางคู่ขนานระหว่างการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการรักษาไว้ซึ่งระดับของการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวอีกนัยหนึ่ง นอกเหนือจากการมุ่งหวังผลประโยชน์ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ควรคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอันอาจเกิดขึ้นจากการทำข้อตกลงดังกล่าว ประกอบกับควรผลักดันให้มีมาตรฐานและกฎเกณฑ์เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป


[1] สรุปความจาก Vutha Hing and Hossein Jalilian, Environmental Impacts of the ASEAN-China Free Trade Agreement on the Greater Mekong Sub-Region, Cambodia Development Recourse Institute, 2008. pp. 1-55 .

[2] อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงประกอบด้วย ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนามและ มณฑลยูนนานของจีน

[3] มีการจัดประเภทของสินค้าที่มีมลพิษออกเป็น 3 ประเภทได้แก่ ประเภทที่มีมลพิษสูงสุด (Most Polluting Sectors) มลพิษในระดับกลาง (Moderate Polluting Sectors) และมลพิษในระดับต่อ (Least Polluting Sectors)

ยุทธศาสตร์จีนต่อปัญหาทะเลจีนใต้: Taylor M. Fravel กับข้อเสนอเรื่องกลยุทธ์การเตะถ่วง

ยุทธศาสตร์จีนต่อปัญหาทะเลจีนใต้: Taylor M. Fravel กับข้อเสนอเรื่องกลยุทธ์การเตะถ่วง [1]

 

            

China’s strategy of delaying the settlement has emphasized strengthening China’s own claim to  maritime rights, especially its ability to exercise jurisdiction over the contested waters, and to deter other claimant states from further strengthening their own maritime claims.”[2] 

ข้อถกเถียงหลักของ Fravel เสนอว่า จีนใช้กลยุทธ์ในการเตะถ่วง (Delaying Strategy) ในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้ โดยเป้าหมายของกลยุทธ์ดังกล่าวประกอบด้วย 2 ประการได้แก่การสร้างความเข้มแข็ง (Consolidation) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องของสิทธิและขอบเขตอำนาจทางทะเล (Jurisdiction) ผ่านการใช้เครื่องมือทางการทูตและกฏหมาย ควบคู่กันไปกับการป้องปราม (Deterrence) มิให้รัฐอื่นๆเพิ่มพูนศักยภาพอันจะส่งผลกระทบต่อการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของจีน อย่างไรก็ตาม ยุทธวิธีดังกล่าวกลับสะท้อนสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางความมั่นคง (Security Dilemma) กล่าวคือ การสร้างความเข้มแข็งและอิทธิพลของจีนถูกพิจารณาว่าเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ 

ทั้งนี้อาจพิจารณาได้ว่า ทะเลจีนใต้เป็นอาณาบริเวณที่สะท้อนผลประโยชน์หลักของจีนทั้งมิติทางความมั่นคงและมิติทางเศรษฐกิจ โดยในมิติแรกอาจพิจารณาได้ว่า ทะเลจีนใต้เป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงที่สำคัญของจีน โดยทะเลจีนใต้เปรียบเสมือนเป็นพื้นที่กันชนทางทะเล (Maritime Buffer) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจีนจำต้องเผชิญหน้ากับไต้หวันหรือสหรัฐอเมริกา ในขณะที่มิติทางเศรษฐกิจ ทะเลจีนใต้มีความสำคัญในฐานะเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ ประกอบกับเป็นบริเวณที่เอื้ออำนวยต่อการทำการประมง นอกจากนี้ทะเลจีนใต้ยังเป็นบริเวณที่รุ่มรวยด้วยแหล่งแก๊สธรรมชาติ ซึ่งรัฐบาลจีนในทุกยุคทุกสมัยต่างมีมาตรการที่เข้มงวดต่อการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันของบริษัทซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐซึ่งมีส่วนได้เสียในการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ โดยการรักษาไว้ซึ่งสถานะของจีนในบริเวณทะเลจีนใต้ปรากฏให้เห็นผ่านการใช้เครื่องมือทางการทูตและการเจรจา เครื่องมือทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเครื่องมือทางการทหาร

Fravel เสนอว่า กลยุทธ์ซึ่งรัฐเลือกใช้เพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเหนือเขตแดนประกอบด้วย 3 แนวทางได้แก่ การสร้างความร่วมมือ (Cooperation) การเพิ่มระดับความรุนแรงของปัญหาผ่านการใช้กำลัง (Escalation/ Coercion) และการเตะถ่วง (Delaying Strategy) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่รัฐยังคงรักษาสถานะของการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนข้อพิพาท โดยปราศจากการใช้กำลังหรือลงนามในข้อตกลงอย่างเป็นรูปธรรม โดย Fravel ชี้ว่าจีนใช้กลยุทธ์การเตะถ่วงมาตั้งแต่ช่วงแรกของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1950 แต่ก็ปรากฏให้เห็นการปรับเปลี่ยนไปใช้รูปแบบของการใช้กำลังทางทหารในบางสมัย อย่างไรก็ดี รูปแบบหลักซึ่งรัฐบาลจีนเลือกใช้ยังคงเป็นกลยุทธ์การเตะถ่วงเป็นหลัก ทั้งนี้เหตุผลสำคัญซึ่งจีนเลือกใช้กลยุทธ์เตะถ่วงและไม่เลือกที่จะเพิ่มระดับความรุนแรงผ่านการใช้กำลังโดยตรง เพราะในช่วงแรกศักยภาพของกองเรือจีนยังมีจำกัด อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าพิจารณาว่าเมื่อจีนพัฒนาศักยภาพของกองทัพเรือเพิ่มสูงขึ้นเหนือรัฐอื่นอย่างมีนัยสำคัญ เป้าหมายหลักของกลยุทธ์เตะถ่วงของจีนก็อาจเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้กำลังได้ในท้ายที่สุด

Fravel ชี้ว่าการแก้ไขปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้ของจีนอาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปสู่การเจรจาและการประนีประนอมมากยิ่งขึ้น หากจีนตระหนักถึงประโยชน์ของการสร้างความร่วมมือว่ามีต้นทุนซึ่งจีนจำต้องแบกรับน้อยกว่ากลยุทธ์เดิม อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากแอกประวัติศาสตร์ของความพยายามสร้างความร่วมมือ อาทิ การเจรจาภายใต้กรอบ ASEAN ผลลัพธ์จากการเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาทกลับปรากฏให้เห็นในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าความสำเร็จในการผลักดันข้อตกลงดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ท้ายที่สุดแล้ว ปฏิเสธได้ยากว่า จีนจำต้อง “ชั่งน้ำหนัก” ต้นทุนของกลยุทธ์การใช้กำลังกับการสร้างความร่วมมือว่ากลยุทธ์ใดจะสร้างผลประโยชน์ให้จีนได้มากที่สุด ควบคู่กันไปกับการพิจารณาแรงต้าน/ปฏิกิริยาตอบสนองจากรัฐต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่บรรดารัฐซึ่งมีข้อพิพาทกับจีนต่างตระหนักถึงการขยับขยายอิทธิพลของจีนในบริเวณทะเลจีนใต้


[1] สรุปความจาก Fravel, Taylor M.  ‘China’s Strategy in the South China Sea’. Contemporary Southeast Asia. Vol. 33, No. 3, December 2011, pp. 292-319

[2] Ibid., 299

บทความปริทรรศน์ : Singapore Inc. Goes Shopping Abroad: Profits and Pitfalls

 Singapore Inc. Goes Shopping Abroad: Profits and Pitfalls

โดย Andrea Goldstein และภวิดา ปานะนนท์

งานชิ้นนี้ต้องการพิจารณาการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของสิงคโปร์ (Outward Foreign Direct Investment: OFDI) เพื่อศึกษาบทบาทของบริษัทซึ่งมีสายสัมพันธ์กับรัฐบาล (Government- linked corporations: GLC) โดยหยิบยกกรณีของการลงทุนในไทยของ Temasek เพื่อชี้ว่าแม้การลงทุนของ GLC จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ (Profit) แต่จำต้องตระหนักถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเมืองซึ่งอาจตามมาด้วย โดยในกรณีของการซื้อขายหุ้น GLC จำต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านและอุดมการณ์ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ซึ่งมิได้มีการประเมินหรือตระหนักถึงความเสี่ยงอันอาจเกิดขึ้นจากกระแสต่อต้านจากรัฐซึ่ง GLC เข้าไปลงทุน

กล่าวโดยทั่วไป GLC ในบริบทของสิงคโปร์คือบริษัทซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของ (State- owned enterprise)  GLC บางบริษัทอยู่ภายใต้การดูแลของ Shen-Li Holding และ MND Holding ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของกระทรวงการเงิน นอกจากนี้บริษัทซึ่งมีส่วนสำคัญยิ่งต่อบริหารจัดการการลงทุนของสิงคโปร์คือ Government of Singapore Investment หรือ GIC ทั้งนี้อาจพิจารณาได้ว่า GLC มีข้อได้เปรียบในการแข่งขันกับการลงทุนในระดับโลกเพราะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสิงคโปร์

GLC ซึ่งส่วนใหญ่ถูกบริหารจัดการอยู่ภายใต้ Temasek ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น“บริษัทสิงคโปร์”หรือ Singapore Inc. โดย Temasek มีส่วนสำคัญต่อการผลักดันและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ในระดับภูมิภาค โดยการลงทุนของ Temasek สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทได้แก่ Transportation and logistics hub, ภาคบริการ การธนาคาร การเงิน และโทรคมนาคม, ธุรกิจบริการที่ใช้จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ทางวิชาชีพ (knowledge-based companies)  และธุรกิจซึ่งเกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ แม้ GLC จะประสบความสำเร็จจากการลงทุนในระดับโลกและสะท้อนให้เห็นความสำเร็จของกลยุทธ์ในการดึงดูดนักลงทุนของสิงคโปร์ แต่ GLC ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประเทศซึ่ง GLC เข้าไปลงทุน อาทิบทบาทของ GLC ในการแทรกแซงทางการเมือง  ตลอดจนมุ่งตักตวงผลประโยชน์และทำลายผู้ประกอบการรายย่อยภายในประเทศ

เหตุการณ์สำคัญซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงกระแสต่อต้านจากประเทศซึ่ง Temasek เข้าไปลงทุนคือกรณีการซื้อหุ้นของบริษัท Shin Corp. ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร โดยการซื้อขายหุ้นของ Shin Corp ให้ Shin ส่งผลให้เกิดวิกฤตทางการเมืองภายในประเทศและเป็นส่วนหนึ่งของการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

การซื้อขายหุ้นระหว่าง Temasek และ Shin ตกอยู่ภายใต้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่ช่วงต้นของการเริ่มเจรจา โดยปรากฏให้เห็นการเผาธงชาติสิงคโปร์และรูปผู้นำของสิงคโปร์ ตลอดจนการรณรงค์ boycott ไม่ใช้สินค้าจากสิงคโปร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบริษัทที่มีความเกี่ยวโยงกับ Temasek  ในช่วงต้นปีพ.ศ. 2549 Temasek ประกาศว่าจะซื้อหุ้นจำนวน 49.6 % จากเครือ Shin ผ่าน 2 บริษัทได้แก่ Aspen (Temasek ถือหุ้นอยู่ 10.97 % และถือหุ้นผ่าน Anderton Investment) และ Cadar (Temasek ถือหุ้นอยู่ 38.62 แต่ถือผ่านสามบริษัทได้แก่ Cypress, Siam Commercial Bank และกุหลาบแก้ว โดยสัดส่วนหุ้นของ Temasek ในเครือ Shin พุ่งสูงถึง 96 % ในปลายเดือนมีนาคม 2549

ประเด็นซึ่งถูกหยิบยกขึ้นในสังคมไทยคือการเสียภาษีจากการหุ้นของ Shin ทั้งนี้เพราะการถือหุ้นใน Shin มิใช่บริษัทหากแต่เป็นตัวบุคคลคือทักษิณและครอบครัวจึงทำให้เมื่อการซื้อขายระหว่าง Shin และ Temasek เกิดขึ้นในตลาดหุ้นจึงได้รับการยกเว้นจากการเสียภาษี (Tax Free)  การซื้อขายดังกล่าวตามมาซึ่งข้อถกเถียงทางกฎหมายและปัญหาจริยธรรมซึ่งถูกใช้เพื่อโหมกระแสต่อต้านทักษิณในสังคมไทย ตลอดจนเปรียบเสมือนเป็นฟางเส้นสุดท้ายอันนำไปสู่การรัฐประหารทักษิณในท้ายที่สุด

ปัญหาสำคัญจากการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้คือการละเมิดพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งห้ามมิให้ชาวต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ในธุรกิจบางประเภท ซึ่งรวมถึงธุรกิจวิทยุ โทรทัศน์ และธุรกิจการบิน โดย Shin ถือเป็นบริษัทซึ่งครอบคลุมทั้ง AIS, ITV, Shin Satellite และ Air Asia จึงทำให้เมื่อ Temasek เข้าถือครองหุ้น Shin กลายเป็นเจ้าของธุรกิจเหล่านี้ไปโดยปริยาย คำถามสำคัญที่ตามมาคือภายหลังจากการซื้อขายหุ้น คือการตีความเรื่องของการถือครอง(Ownership) กับอำนาจในการบริหารควบคุม (Control) ซึ่งตามกฎหมายไทยจะพิจารณาในมิติของการถือครองมากกว่าการควบคุม แม้ในเอกสารจะระบุว่า Shin เป็นบริษัทซึ่งมีสัญชาติไทย (Thai Ownership) แต่การควบคุมกลับตกอยู่ในมือของ Temasekผ่านการถือหุ้นของบริษัทกุหลาบแก้วซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นนอมินีของ Temasek ซึ่งเท่ากับเป็นการละเมิดพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542   ทั้งนี้อาจพิจารณาได้ว่าการซื้อขายหุ้นระหว่าง Temasek และ Shin นำมาซึ่งความเสื่อมถอย (Setback) ของ Temasek ทั้งในมิติทางการเมืองและมิติทางเศรษฐกิจ กล่าวคือในมิติทางเศรษฐกิจภายหลังจากการทำรัฐประหาร ผลประกอบกอบการของ Shin ลดลงจาก 2.2 พันล้านบาทสู่ 1.7 พันล้านบาท โดยภายหลังจากการทำรัฐประหารเพียง 1 ปี Temasek มีผลกำไรลดลงถึง 31 % นอกจากนี้จากการซื้อขายหุ้นดังกล่าวธุรกิจอื่นๆของ Temasek ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทยถูกเฝ้าจับตามองอย่างเคร่งครัด และส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสัมพันธ์ไทย-สิงคโปร์

โปรดดูเพิ่มเติม : Goldstein, Andrea & Pavida Pananond (2008), “Singapore IncGoes Shopping Abroad:Profits and Pitfalls“, Journal of Contemporary Asia, 38(3): 417-38.